ลุ้นหนัก ! จีนเที่ยวไทย หวั่นเป้า 5 ล้านคน…ไปไม่ถึงฝัน

นักท่องเที่ยวจีน

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-21 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.78 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีน 1.03 ล้านคน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซียที่มีจำนวน 1.39 ล้านคน

จากเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ 5 ล้านคน สร้างรายได้ 446,000 ล้านบาท ในปี 2566

ATTA ยังหวังจีน 7 ล้านคน

“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวในภาพรวมถือว่าฟื้นตัวในทิศทางที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะตลาดจากประเทศสมาชิกอาเซียน ยุโรป และรัสเซีย ซึ่งตลาดนี้ถือว่าอยู่เหนือความคาดหมายมาก

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจากจีนและญี่ปุ่นผิดคาด ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ปกติไม่ประสบปัญหาความลำบากใด ๆ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนอาจสูงไปถึง 7 ล้านคน แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ปกติ

“ศิษฎิวัชร” บอกด้วยว่า ปัจจุบันระบบการลงทะเบียนวีซ่าออนไลน์ยังไม่ค่อยคล่องตัวนัก ขณะที่นักท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจุบันกรมการกงสุลได้รับทราบข้อกังวลแล้ว

“ก่อนหน้านี้ยื่นขอวีซ่าแบบกรุ๊ป 3-5 วันก็ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ตอนนี้กรอบเวลาอยู่ที่ 15 วัน ทางแอตต้าได้แจ้งความประสงค์ไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้ว ว่าขอให้อยู่ภายใต้กรอบเวลา 10 วันได้หรือไม่ คิดว่าตอนนี้กรมการกงสุลน่าจะรับทราบแล้วว่าผู้ประกอบการจีนต้องการอะไร”

พร้อมบอกอีกว่า เชื่อว่ากรมการกงสุลมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยว ดังนั้น เป้า 5 ล้านคนสำหรับปีนี้น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงทุกคนคาดหวังนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยที่จำนวน 7 ล้านคน แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนผ่านกรุ๊ปทัวร์ยังไม่ค่อยเข้ามามากนัก

ยัน “วีซ่ากรุ๊ป” ยังเป็นอุปสรรค

เช่นเดียวกับ “อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่บอกว่า ปัจจุบันการยื่นวีซ่าแบบกลุ่ม (e-Visa) ยังประสบปัญหาด้านจำนวนที่ยังจำกัดอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวไมซ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าออกพรมแดนและเรื่องค่าใช้จ่าย

เพราะหากบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวหันไปเลือกการลงทะเบียนวีซ่าหน้าด่าน (visa on arrival) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,000 บาท ก็จะเพิ่มภาระด้านต้นทุน

หรือประเด็นในเรื่องระยะเวลาการอนุมัติวีซ่า ที่มองว่าหากใช้ระยะเวลาอนุมัตินานถึง 15 วันทำการ อาจทำให้บริษัททัวร์ที่รับกรุ๊ปท่องเที่ยวขนาดใหญ่บริหารจัดการได้ยาก มีความเสี่ยงด้านธุรกิจสูงเกินไป บริษัทอาจหันไปเลือกจุดหมายปลายทางที่สะดวกกว่า

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยแล้วราว 1 ล้านคน ผมไม่กล้าประเมินว่านักท่องเที่ยวอีก 4 ล้านคน จากเป้าหมาย 5 ล้านคนของ ททท.จะมีความเป็นไปได้ในทิศทางใด”

ด้าน “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ในประเด็นความไม่สะดวกของระบบการยื่นวีซ่าออนไลน์ หรือ e-Visa นี้ ททท.ได้ประชุมร่วมกับอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว และได้แสดงความกังวลไปแล้วว่า หากยังมีปัญหานี้หวั่นว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคนสำหรับปี 2566 นี้อาจจะเป็นไปได้ยาก

“ตอนนี้ก็ต้องดูว่าอีก 4 ล้านคนที่เหลือเราจะหาได้ไหม ซึ่งหากกระทบกับเป้า 5 ล้านคนของนักท่องเที่ยวจีน สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทั้งปี 25 ล้านคนไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด”

ไฟลต์จีนพุ่ง 430 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ขณะที่แหล่งข่าวในธุรกิจการบินบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตัวแปรหลักของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนคือ การฟื้นตัวของเที่ยวบินในช่วงตารางบินฤดูร้อน 2566 และตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ซึ่งเชื่อว่าปัญหาเรื่องนี้น่าจะผ่อนคลายขึ้นหลังจาก 1 มิถุนายน 2566 นี้เป็นต้นไป

โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิได้แก้ปัญหาคอขวดด้านบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นของสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น

โดยจัดหาผู้ให้บริการเพิ่มชั่วคราวจนกว่าจะได้ผู้ชนะประมูลรายใหม่

นอกจากนี้ กพท.ได้ประชุมร่วมกับสายการบินจีนกว่า 10 สายการบิน เพื่อจัดสรรเที่ยวบินเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดว่าเที่ยวบินจากจีนจะทำการบินเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 430 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปัจจุบันที่มีกว่า 100 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

และเชื่อมั่นว่าหลังจากสร้างความมั่นใจในบริการของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว สายการบินจีนจะไปทำการตลาดและจะทยอยเพิ่มเที่ยวบิน ซึ่งน่าจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนกลับไปถึงระดับก่อนเกิดโควิดได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสายการบินจากจีนที่มีเที่ยวบินสู่ประเทศไทยจำนวน 24 สายการบิน อาทิ แอร์ไชน่า, เสิ่นเจิ้น แอร์ไลน์, ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์, ไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์, เสฉวนแอร์ไลน์, คุนหมิงแอร์ไลน์, จูนเหยา แอร์ไลน์, ปักกิ่ง แคปิตอล แอร์ไลน์, เซี่ยงไฮ้ แอร์ไลน์, เซี่ยเหมิน แอร์ไลน์, ลัคกี้แอร์, ฮ่องกง เอ็กซ์เพรส, ตงไห่แอร์ไลน์ แอร์มาเก๊า, สปริงแอร์ไลน์, หยุยลี่ แอร์ไลน์, โอเค แอร์เวย์, เหอเป่ย์ แอร์ไลน์, ชานตง แอร์ไลน์, เทียนจิน แอร์ไลน์ ฯลฯ

โดยเมืองหลักที่ทำการบินเข้ามาที่สุวรรณภูมิ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เซี่ยงไฮ้ 45 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 2.เฉิงตู 24 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 3.ปักกิ่ง 22 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 4.เสิ่นเจิ้น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และ 5.กว่างโจว 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ต้องลุ้นต่อไปว่า อุปสรรคของตลาดนักท่องเที่ยวจีน ทั้งประเด็นเรื่องความไม่สะดวกในการยื่นขอ “วีซ่า” ของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม “กรุ๊ปทัวร์” และการฟื้นตัวของสายการบินของไทยจะคลี่คลายและหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีน 5 ล้านคนสำหรับปีนี้ได้หรือไม่