กงสุลยกระดับ e-Visa จีน ให้บริการ 8 ภาษา-รับได้วันละกว่า 2 แสนคน

สนามบิน

จากกรณีการยื่นขอ “วีซ่ากรุ๊ป” ผ่านระบบออนไลน์ หรือ e-Visa ของกลุ่มบริษัทนำเที่ยวในจีน ที่ระบุว่านักท่องเที่ยวจีนที่ประสงค์จะขอวีซ่าเข้าประเทศไทยเข้าไปอัพโหลดเอกสารออนไลน์ผ่านระบบ e-Visa ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็น “กรุ๊ปทัวร์” ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน

โดยประเด็นดังกล่าวนี้สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ได้รับรายงานปัญหาดังกล่าวมาจากกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวในจีน จึงเข้าร่วมหารือกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันหาแนวทางอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีน

ทั้งนี้ เพื่อให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีน 5.3 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 446,000 ล้านบาทตามเป้าหมายปี 2566

ยันไม่ได้ปรับมาตรการ e-Visa

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดนายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล และคณะจากกรมการกงสุล ได้ประชุมหารือกับนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) และคณะ ที่อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566

“รุจ ธรรมมงคล” อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นและผลการหารือดังกล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญการส่งเสริม พร้อมทั้งแนวทางความร่วมมือเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น

รวมทั้งเรื่องแนวปฏิบัติในการตรวจลงตรา โดยเฉพาะการยื่นคำร้องผ่านบริษัทนำเที่ยวจีน การยื่นคำร้องของบริษัทภาพยนตร์จีนที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ตลอดจนแนวทางการเชื่อมข้อมูลออนไลน์ด้านที่พัก บัตรโดยสารเครื่องบิน ข้อมูลรายชื่อนักท่องเที่ยวกับระบบ e-Visa ในอนาคต

พร้อมย้ำว่า สำหรับมาตรการและเงื่อนไขการยื่นขอวีซ่านั้น ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมแต่ประการใด เพียงแต่บริษัทนำเที่ยวมีความเข้าใจผิดหลายด้านเกี่ยวกับการยื่นเอกสาร และหลายแห่งก็ยื่นเอกสารเกินความจำเป็น

โดย ททท.ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับเอกชน บริษัททัวร์ ได้บอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ e-Visa ของนักท่องเที่ยวจีนว่ามีอะไรบ้าง และถามว่าระบบ e-Visa สะดวกและเร็ว แต่ทำไมต้องอัพโหลดเอกสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้เขาเข้าใจผิด

สำหรับกรณีการอัพโหลดพาสปอร์ตนั้น ตามระบบต้องการแค่ 2 หน้าเท่านั้นคือ หน้าแรกที่มีชื่อ เลขที่หนังสือเดินทาง และหน้าที่เคยมีวีซ่าเข้าไทยก่อนหน้า หากเดินทางเป็นครั้งแรกก็ไม่ต้องใช้ เป็นต้น

ส่วนเอกสารอื่น ๆ ที่เหลือนั้นจะเป็นเอกสารทั่วไป เช่นเดียวกับการยื่นขอวีซ่าประเทศอื่น เช่น ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สำหรับเอกสารการเงินนั้นก็ใช้สำหรับวีซ่าบางประเภทเท่านั้น

เรียกว่าเป็นเอกสารพื้นฐานที่ใช้สำหรับยื่นขอวีซ่าของทุกประเทศ

“กองถ่าย” รวมยื่นที่เดียวได้

อธิบดีกรมการกงสุลอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบ e-Visa หรือการยื่นเอกสารแบบออนไลน์นั้นถือเป็นการอำนวยความสะดวก เพราะผู้เดินทางไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นเอกสารด้วยตนเองเหมือนในอดีต หากได้รับอนุมัติระบบจะจัดส่ง e-Visa เข้าอีเมล์ ผู้ขอไม่ต้องเดินทางเพื่อนำเล่มพาสปอร์ตไปตรวจลงตราที่สถานกงสุลหรือสถานทูตใหญ่แต่อย่างใด

สำหรับกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เดินทางเข้ามาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีคณะเดินทางจากหลายบริษัทและจากหลายเมือง ซึ่งเดิมระบุให้ผู้เดินทางยื่นวีซ่าตามถิ่นที่อยู่ แต่ขณะนี้สถานกงสุลหรือสถานทูตใหญ่อนุญาตให้บริษัทผู้สร้างหรือตัวแทนรวบรวมผู้เดินทางยื่นผ่านสถานกงสุลไหนก็ได้ เป็น one stop service เพื่ออำนวยความสะดวก

เฟส 2 รองรับ 2 แสนคน/วัน

อธิบดีกรมการกงสุลบอกอีกว่า เพื่อให้ระบบ e-Visa มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีศักยภาพในการรองรับผู้ลงทะเบียนยื่นขอวีซ่าออนไลน์พร้อมกันในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ทางกรมการกงสุลอยู่ระหว่างการเตรียมจัดซื้อจัดจ้างผู้พัฒนาระบบเฟส 2 คาดว่าจะสามารถพร้อมใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2567

โดยการพัฒนาในเฟส 2 นี้จะยกระดับให้ระบบ e-Visa รองรับได้ถึง 8 ภาษา รวมทั้งภาษาจีนด้วย มีระบบคัดกรอง รับคำร้อง และการดาวน์โหลดเอกสารในปริมาณมากได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถรองรับผู้ยื่นขอวีซ่าได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคนต่อวัน จากปัจจุบันที่มีศักยภาพในการรองรับที่จำนวน 8 หมื่นคนต่อวัน

“เรายอมรับว่าที่ผ่านมาระบบ e-Visa เฟสแรกที่ออกมามีปัญหาและข้อจำกัดบ้าง เช่น มีแค่ภาษาอังกฤษ ทำให้คนจีนบางส่วนเกิดปัญหาในการลงทะเบียน หรือระบบที่ยังไม่เสถียร ทำให้อาจเกิดปัญหาบ้างเวลามีผู้อัพโหลดเอกสารพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาในเฟส 2 ปัญหาพวกนี้จะหมดไป”

ททท. รับไปเจรจาบริษัททัวร์

พร้อมทิ้งท้ายว่า ประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้ว่าการ ททท. ให้การสนับสนุนหลักการและเหตุผล และแสดงความพร้อมที่จะช่วยทำความเข้าใจกับสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศ และอธิบายให้บริษัทนำเที่ยวในจีนมีความเข้าใจที่ถูกต้องอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กรมการกงสุล และ ททท. ในฐานะพันธมิตรจะประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่าง การอำนวยความสะดวกตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและความมั่นคงแห่งชาติ

และย้ำว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ “กรมการกงสุล” จะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบการตรวจลงตรา ให้มีฐานรองรับ ความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ง่ายต่อการสมัครออนไลน์ ผนวกด้วยระบบคัดกรองที่ทันสมัย รวดเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและ traffic floes ในช่วงหลังโควิด รวมทั้งการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

นักท่องเที่ยว

“ททท.” ดันตัวเลขจีน 5 ล.คน ย้ำความเชื่อมั่นเที่ยวไทยผ่าน KOLs

กากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนกว่า 1,003,893 คน โดยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม

ขณะที่ความต้องการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ประกอบกับแผนการเพิ่มเส้นทางและเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสู่เป้าหมายที่ 5 ล้านคน

“ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า จากการกลับมาของตลาดระยะใกล้อย่าง “นักท่องเที่ยวจีน” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 นับเป็นสัญญาณบวกและมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ททท.ในฐานะหน่วยงานดูแลด้านการตลาดจึงเร่งเครื่องขับเคลื่อนทั้งฝั่ง demand และ supply ให้ฟื้นคืนอย่างสมดุล และเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น

“ธเนศวร์” บอกว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดจีนมีอัตราการเติบโตดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดกิจกรรม Trusted Thailand, You Taiguo Yue Wan Yue Kaixin หรือ “เที่ยวเมืองไทยยิ่งไปยิ่งสนุก”

นำเสนอข้อมูลในมิติของการบริการ การอำนวยความสะดวก ตลอดจนมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวขณะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยในกิจกรรมดังกล่าว ททท. ได้เชิญ KOLs จากจีน จำนวน 60 ราย สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนจีนในไทย สายการบินในประเทศไทย และสายการบินจีนที่มีสำนักงานในไทย และพันธมิตรรวม 100 รายเข้าร่วม

“ประเทศไทยคิดถึงชาวจีนมากจริงๆ เราขอให้คำมั่นสัญญาว่าความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ”

“พลตำรวจโทสุคุณ พรหมายน” ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ระบุว่า สตช. กองบัญชาการตํารวจท่องเที่ยว (บก.ทท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มความสามารถ

โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวผ่านรูปแบบรถโมบาย ถ่ายทอดสัญญาณไปยังส่วนกลางของตำรวจท่องเที่ยว โดยเครื่องมือดังกล่าวติดตั้งอยู่ที่ศูนย์หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชั่น POLICE I LERT U สำหรับให้นักท่องเที่ยวขอความช่วยเหลือ ซึ่งรองรับได้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมัน และอาหรับ โดยการส่งข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่าย เวลาเกิดเหตุ และตำแหน่งที่เกิดเหตุไปยัง war room ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 1155 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง “เราให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทุกคน ทุกเวลา”

รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. ยังบอกอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ICONSIAM จัดกิจกรรม shopping challenge ชวน KOLs เลือกซื้อสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Soft Power (5F) และ Meaningful Travel

โดย KOLs จากจีนที่เข้าร่วมกิจกรรม shopping challenge ยังมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลจากพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการ อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบินสายการบินแอร์เอเชีย บัตรของขวัญจาก ICONSIAM ฯลฯ

และร่วมกับสายการบิน “แอร์เอเชีย” ต่อยอดจัดกิจกรรม KOLs Mega FAM Trip นำ KOLs เดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว ระหว่าง 18-28 พฤษภาคม 2566 มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ภายใต้แนวคิด meaningful travel และให้ความสำคัญกับมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างเดินทางท่องเที่ยว

อาทิ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวทางทะเล การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงด้วยระบบราง-รถไฟความเร็วสูง เส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ เชื่อมหนองคาย-อุดรธานี และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ

อาทิ เชียงใหม่ ตราด (เกาะช้าง) จันทบุรี ชลบุรี (พัทยา) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) กาญจนบุรี สมุทรสงคราม นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ฯลฯ

เป็นการสนับสนุนการจัดทำเนื้อหาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยผ่านโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การสร้างกระแสการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน ตามเป้าหมาย 5 ล้านคนปี 2566