หลายตัวเลขบ่งชี้ เศรษฐกิจจีนอ่อนแรงกว่าที่คาด ฝากความหวังมากไม่ได้

ตัวเลขเศรษฐกิจจีน
AFP / RETAMAL

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายปลีก และหลายตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจจีนที่เปิดเผยออกมาในช่วงนี้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนอ่อนแรงกว่าที่คาด และหากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวไม่ดีตามคาด ผลกระทบทางบวกที่จะกระจายออกไปสู่เศรษฐกิจโลกก็จะไม่เป็นดังที่คาดหวัง

ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเมษายน 2566 ของจีนที่ เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บ่งชี้ว่าจีนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืด สร้างความกังวลว่าจะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยาก 

ล่าสุด มีข้อมูลเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นอีกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแรง ยิ่งเพิ่มความกังวลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยิ่งขึ้นอีก และหากเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวไม่ดีตามคาด ผลกระทบทางบวกที่จีนจะกระจายออกไปสู่เศรษฐกิจโลกก็จะไม่เป็นดังที่คาดและหวัง

สำนักข่าว Reuters รายงานในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดขายปลีกในเดือนเมษายน 2566 ของจีนเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสูญเสียโมเมนตัมยิ่งกว่าเดิมในช่วงเริ่มต้นไตรมาสที่สอง และเพิ่มแรงกดดันสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการพยายามทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics : NBS) ของจีน เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2566 ขยายตัว 5.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และโตขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดือนมีนาคม 2566 ที่ขยายตัว 3.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 

การเติบโต 5.6% นั้น แม้ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 แต่ยังต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของ Reuters คาดการณ์ไว้ว่าจะโตขึ้นถึง 10.9% 

ยอดขายของภาคค้าปลีกโต 18.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เร่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากอัตราการเติบโตของเดือนมีนาคม 2566 ที่ขยายตัว 10.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าจะโตได้ถึง 21.0% 

ข้อมูลจากทางการจีนยังแสดงให้เห็นอีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed asset) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 5.5% 

บรูซ ผาง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Jones Lang Lasalle บริษัทจัดการการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกกล่าวว่า ตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์แสดงให้เห็นว่ายากแค่ไหนที่จะทำให้เครื่องจักรการเติบโตของเศรษฐกิจทำงานหลังจากเริ่มสตาร์ทเครื่องอีกครั้ง

เขาบอกอีกว่า ในไตรมาสที่ 2 จีนจะยังคงมีตัวเลขกิจกรรมการผลิตที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YOY) เนื่องจากฐานการเปรียบเทียบที่ต่ำ แต่จะเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าในไตรมาสแรก เนื่องจากเศรษฐกิจอ่อนแรงในการฟื้นตัว 

นอกจากนี้ ข้อมูลอื่น ๆ ที่เผยแพร่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการนำเข้าของจีนหดตัวลงในเดือนเมษายน 2566, ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) หรือราคาขายส่งหน้าโรงงานหดตัวลงลึกกว่าเดิม และสินเชื่อธนาคารมีดีมานด์ในประเทศน้อยลง ล้วนแต่เพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก

นอกจากสภาวะอุปสงค์ในประเทศและทั่วโลกเปราะบางแล้ว ผู้กำหนดนโยบายของจีนยังต้องต่อสู้กับหลายแรงลมต้าน (headwind) ทั้งการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐและยุโรปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นทั่วโลก และสงครามในยูเครน อีกทั้งหนี้ในประเทศที่สูงและวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลายก็ยังคงสร้างความกังวล 

ตามการคำนวณของ Reuters การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของเศรษฐกิจจีนในเดือนเมษายน 2566 ร่วงลง 16.2% จากเดือนเมษายนปี 2565 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2566 ที่ลดลง 7.2% จากเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากนักลงทุนยังระมัดระวังการใช้เงินในช่วงที่ดีมานด์ยังคงเปราะบาง 

ขณะที่ภาคธุรกิจระวังเรื่องการใช้เงิน ผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการว่างงาน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่เผยแพร่ในวันเดียวกันระบุว่า อัตราการว่างงานของเยาวชน (อายุ 16-24 ปี) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20.4% ซึ่ง จาง จื้อเหว่ย (Zhang Zhiwei) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน Pinpoint Asset Management บอกว่าเป็น “สัญญาณที่น่าเป็นห่วง”

จางวิเคราะห์อีกกว่า นักวิจัยบางคนในตลาดเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเชิงนโยบายเพิ่มเติม เช่น ออกคูปองเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลต่อต้านที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ตั้งไว้ที่ระดับต่ำ จึงยังเหลือที่ว่างให้รัฐบาลรอดูสถานการณ์ได้ว่าจำเป็นต้องกระตุ้นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่