จีนใกล้เงินฝืด CPI เพิ่มเพียง 0.1% หวั่นซ้ำเศรษฐกิจฟื้นตัวยาก ทำลายความหวังโลก

จีนเข้าใกล้เงินฝืด
AFP/ GREG BAKER

จีนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืด เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายน 2566 เพิ่มเพียง 0.1% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ฝั่งดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หดตัวลง 3.6% ฝืดหนักยิ่งกว่าเดิม หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจฟื้นตัวยาก ความหวังโลกอาจพังทลาย 

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bereau of Statistics of China : NBS) เผยแพร่รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2566 โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของจีนชะลอลงสู่อัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปีกว่า ขณะที่ฝั่งดัชนีราคาผู้ผลิตนั้นหดตัวลงสู่ภาวะฝืดหนักยิ่งกว่าเดิม ซึ่งซ้ำเติมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยากยิ่งขึ้น 

ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index : CPI) เดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ชะลอลงจากอัตราของเดือนมีนาคมที่เพิ่ม 0.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน) ในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากอัตราในเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 0.7% เช่นกัน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.1% นี้เป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจจีนเกือบจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว 

เมื่อปีที่แแล้ว หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 2% รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2566 ไว้ที่ 3% ซึ่งเป็นระดับอัตราเงินเฟ้อพอดี ๆ กำลังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่การลดลงของราคาอาหารในเดือนมีนาคม 2566 ทำให้ดัชนีผู้บริโภคของจีนต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบปีกว่า ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดเพิ่มสูงขึ้น 

เมื่อเดือนที่แล้ว Wind ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินในจีนคาดว่า CPI เดือนเมษายนจะเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) แต่ตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ และเกือบจะเป็น 0% ยิ่งทำให้มีความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) เดือนเมษายน 2566 ซึ่งสะท้อนราคาที่โรงงานขายสินค้าให้ผู้ค้าส่งลดลง 3.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม (MOM) ที่ลด 2.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 

ดัชนี PPI ที่ลดลง 3.6% นี้ เป็นการลดลงด้วยอัตราที่เร็วที่สุดตั้งแต่พฤษภาคม 2563 หรือในรอบเกือบ 3 ปี และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7  

จีนเข้าใกล้เงินฝืด
AFP/ WANG Zhao

ตง ลี่จวน (Dong Lijuan) นักสถิติอาวุโสจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) กล่าวถึงดัชนี PPI ที่ลดลงว่า เป็นผลมาจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ ความอ่อนแอโดยรวมของดีมานด์ของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ 

Capital Economics บริษัทวิจัยจากอังกฤษวิเคราะห์ว่า ภาวะเงินฝืดของฝั่งดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายนถลำลึกลงไปอีกจนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน และอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคลดลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดที่สุดในรอบ 2 ปีกว่า แม้ว่าการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งได้ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ แต่ก็ถูกหักลบด้วยราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ขับเคลื่อนดัชนีราคาเป็นส่วนใหญ่ 

“ตลาดแรงงานกำลังตึงตัว ซึ่งน่าจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในภาคบริการให้สูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เพดานเป้าหมายเงินเฟ้อ 3% ของรัฐบาลจีน ไม่น่าจะถูกทดสอบในปีนี้”

เมื่อวันอังคารที่ 9 เมษายน 2566 ธนาคาร Standard Chartered เตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนอาจเข้าใกล้ 0 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ได้สร้างฐานการเปรียบเทียบที่สูง 

ธนาคาร Standard Chartered ได้ปรับลดการคาดการณ์ CPI ของจีนในปี 2566 เหลือ 1% จากก่อนหน้านั้นที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.3% เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง และราคาเนื้อหมูและน้ำมันดิบที่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม “ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว และการเติบโตมีแนวโน้มที่จะเอาชนะเป้าหมาย 5% ได้อย่างสบาย เราไม่คาดหวังว่า [PBOC ธนาคารกลางของจีน] จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้” นักเศรษฐศาสตร์ของ Standard Chartered กล่าว

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวยาก ไม่ดีตามคาด ผลกระทบทางบวกที่จะกระจายออกไปสู่ประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับจีนก็จะไม่เป็นดังหวัง และที่ว่าจีนจะ contribute การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากถึง 1 ใน 3 ของการเติบโตรวมทั้งโลกนั้น ก็อาจจะไม่ถึงที่คาด 

อ้างอิง : South China Morning Post

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :