PMI ภาคการผลิตจีนหดตัวลงที่ 49.2 การค้าโลกมีแนวโน้มซึมต่อหลายเดือน

PMI จีน การค้าโลก
AFP/ China OUT

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนเดือนเมษายน 2566 ลดลงไปอยู่ที่ 49.2 จุด เป็นสัญญาณว่าการค้าโลกจะยังซึมต่อไปอีกหลายเดือน 

จีนเป็นประเทศที่กินส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าโลกมากที่สุด เมื่อไรที่การส่งออกของจีนหดตัว มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังแย่ 

ซึ่งการส่งออกของจีนก็ชะลอลงติดต่อกันมาหลายเดือนแล้ว ก่อนจะขยายตัวขึ้นอย่างเหนือคาดในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณว่าจะสดใส เห็นได้จากกิจกรรมภาคการผลิตของประเทศต่าง ๆ ยังอ่อนแอ เพราะคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศยังน้อย และล่าสุดตัวเลขดัชนีสำคัญของจีนในเดือนเมษายนก็บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะซึมต่อไปอีกสักระยะ อย่างน้อยก็สองสามเดือน  

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ประเทศจีนเผยแพร่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers index : PMI) ประจำเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเผยให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตของจีนอ่อนแอลง เพิ่มแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายของจีนที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลง และความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในภาคอสังหาริมทรัพย์  

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (manufacturing PMI) เดือนเมษายน 2566 ลดลงเหลือ 49.2 จุด จาก 51.9 จุด ในเดือนมีนาคม ซึ่งการที่ PMI ต่ำกว่าเกณฑ์ 50 จุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวลง และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ดัชนีต่ำกว่า 50 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ซึ่ง PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 47.0 จุด 

ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยรวมทั้งกิจกรรมภาคการผลิตและกิจกรรมนอกภาคการผลิตในเดือนเมษายนลดลงเหลือ 54.4 จุด จาก 57.0 จุด ในเดือนมีนาคม 

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกเติบโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการบริโภคในภาคบริการที่แข็งแกร่ง แต่ผลผลิตของโรงงานกลับชะลอตัวลงท่ามกลางการเติบโตที่อ่อนแอทั่วโลก ราคาสินค้าที่ค่อย ๆ ชะลอตัวลง และเงินออมในธนาคารที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับดีมานด์จากต่างประเทศ 

โปลิตบูโรซึ่งมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนย้ำเมื่อวันศุกร์ที่ 28 เมษายนว่า การฟื้นตัวและการขยายตัวของอุปสงค์เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างถาวร และเตือนว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการฟื้นตัวด้วยโมเมนตัมที่อ่อนแอและดีมานด์ยังไม่มากพอ

จ้าว ชิงเหอ (Zhao Qinghe) นักสถิติอาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนกล่าวว่า การไม่มีดีมานด์ในตลาดและผลกระทบจากฐานที่สูงเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการผลิตในไตรมาสแรก เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การหดตัวของการผลิตในเดือนเมษายน

คำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศลดลงจาก 50.4 จุด ในเดือนมีนาคม เหลือ 47.6 จุด ในเดือนเมษายน

ภาคการผลิตซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 18% ของจำนวนแรงงานจีนยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา ผู้ส่งออกบางรายบอกกับ Reuters ว่า พวกเขาระงับการลงทุน และบางรายตอบสนองต่อสถานการณ์โดยลดการจ้างงานลง

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าและการจ้างงาน คณะรัฐมนตรีของจีนได้เปิดเผยแผนส่งเสริมต่อภาคธุรกิจเมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการส่งออกรถยนต์ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าสำหรับนักธุรกิจต่างชาติ และให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย   

จาง จื้อเหว่ย (Zhang Zhiwei) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ Pinpoint Asset Management กล่าวว่า การอ่านค่า PMI พร้อมกับสัญญาณทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีความขัดแย้งกัน รวมถึงการเดินทางช่วงวันหยุดที่แข็งแกร่ง และกิจกรรมที่ไม่แน่นอนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ น่าจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินสนับสนุนต่อไปในไตรมาสที่ 2

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกว่าจะโต 4.6% ในปีนี้ ปรับเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่คาดว่าจะโต 4.3% 

IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปีนี้จะมีส่วนสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจโลก 70% ความหวังก็อยู่ที่ผลกระทบทางบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียเหมือนที่ IMF ย้ำแล้วหลายครั้ง ในการปรับคาดการณ์ครั้งนี้ IMF คาดว่าจะโตได้ 5.2% และเศรษฐกิจอินเดียที่คาดว่าจะโต 5.9% ในปีนี้