PMI หลายประเทศในเอเชียร่วง อุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ แนวโน้มเศรษฐกิจไม่ฟื้นเร็ว

PMI เอเชีย
AFP / China OUT

กิจกรรมภาคการผลิตของหลายประเทศเอเชียร่วง เพราะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่แย่ลงยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้  

วันที่ 3 เมษายน 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กิจกรรมภาคการผลิตของเอเชียในเดือนมีนาคม 2566 อ่อนแอเนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่น้อยลง บ่งชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทรุดลงยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้ และทำให้ผู้กำหนดนโยบายยังคงต้องเฝ้าระวัง 

กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่พึ่งพาการส่งออกต่างก็หดตัวลงในเดือนมีนาคม ในขณะที่การเติบโตในภาคการผลิตของจีนชะลอลง เน้นย้ำให้เห็นความท้าทายที่เอเชียต้องเผชิญ ในขณะที่ทางการพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อและป้องกัน headwind จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา 

ชิวาน ตันดอน (Shivaan Tandon) นักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเกิดใหม่ในเอเชียของ Capital Economics กล่าวว่า เนื่องด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแอในไตรมาสที่กำลังจะมาถึง จึงคาดว่ากิจกรรมภาคการผลิตและผลผลิตในเอเชียยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน 

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (purchasing managers index : PMI) เดือนมีนาคม 2566 ของจีนที่จัดทำโดย Caixin/S&P อยู่ที่ 50.0 จุด ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 51.7 จุด และต่ำกว่าดัชนีเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 51.6 จุด 

ทั้งนี้ ค่า PMI ที่ 50.0 จุด สะท้อนถึงการเติบโตที่ช้าลง เกือบจะหลุดเส้น 50.0 ซึ่งถ้าต่ำกว่านั้น หมายถึงการหดตัวลง 

หวัง เจ๋อ (Wang Zhe) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Caixin Insight Group กล่าวถึง PMI ล่าสุดของจีนว่า ฐานรากของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่มั่นคง และในอนาคตข้างหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น 

ส่วน PMI ของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคมร่วงลงมาที่ 47.6 จุด จากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ที่ 48.5 จุด เป็นการหดตัวที่เร็วที่สุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากคำสั่งซื้อของภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลง 

สำหรับดัชนี PMI ของญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำโดย Jibun Bank ดัชนีเดือนมีนาคมอยู่ที่ 49.2 เพิ่มขึ้นจาก 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ 50 เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9

ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (Central Bank of Japan : BOJ) เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2566 เข้าสู่ระดับที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 2 ปี เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอได้เพิ่มความลำบากให้บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว 

สำหรับเวียดนามและมาเลเซีย กิจกรรมภาคการผลิตหดตัวลงเช่นกันในเดือนมีนาคม ส่วนฟิลิปปินส์ก็ขยายตัวช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ 

ในขณะที่ปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่อุปสงค์ชิปที่อ่อนแอลง และสัญญาณล่าสุดจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย 

การล้มละลายของธนาคารในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม และการขาดสภาพคล่องจนต้องขายกิจการของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาด และฉายให้เห็นถึงช่องโหว่ที่อาจเกิดปัญหาขึ้นในระบบการเงินโลก 

ในขณะที่มีข้อบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ แต่แนวโน้มยังคงคลุมเครือ เนื่องจากปัญหาในภาคธนาคาร อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูง และการเติบโตทั่วโลกที่ชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ดึงการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายไปคนละทาง ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าเฟดจะคลายความตึงของนโยบายการเงินลงหรือจะยังคุมเข้มต่อไป 

แรงกดดันจากภายนอกและความคลุมเครือได้ทิ้งให้เศรษฐกิจของบางประเทศในเอเชียซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออกต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ในช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจกำลังพยายามหาทางฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำที่เกิดจากโควิด-19 เป็นเวลาหลายปี

ชิวาน ตันดอน นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics แสดงความเห็นอีกว่า แรงฉุดส่วนใหญ่จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั้น ยังไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น Capital Economics จึงคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกและคำสั่งซื้อที่ภาคการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียได้รับจะยังคงอ่อนแอในไตรมาสต่อ ๆ ไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ตัวเลขดัชนี PMI ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแถลงในวันที่ 3 เมษายน 2566 สูงกว่าตัวเลขที่จัดทำโดย Caixin/S&P ทั้ง PMI ภาพรวม และ PMI ภาคการผลิต โดยตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่ทางการจีนแถลงอยู่ที่ 51.9 จุด มากกว่าตัวเลขของ Caixin/S&P ซึ่งอยู่ที่ 50.0 จุด อย่างไรก็ตาม ตัวเลข PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมของจีนที่ทางการระบุ 51.9 จุด ก็ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ 52.6 จุด