
มีข่าวว่าจีนใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ เป็นสัดส่วนที่มากกว่าการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว แต่เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า การใช้เงินหยวนส่วนใหญ่เป็นการใช้ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง
จีนและพันธมิตรพยายามจะลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐลงให้ได้ในทุกทาง จนเป็นที่จับตามองกันว่าเงินหยวนจะขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกแทนที่เงินดอลลาร์ของสหรัฐหรือไม่ ? ซึ่งความเป็นไปได้อาจจะมี แต่ยังอีกไกลกว่าที่จะไปถึงจุดนั้น
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- รู้จัก น้ำมัน EURO 5 เริ่มใช้ 1 ม.ค. 67 มีผลกับค่าการตลาดน้ำมันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกจับตามองจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และจะถูกนำเสนอเมื่อมีสถิติบางอย่างในบางประเทศว่าเงินหยวนเริ่มตีตื้นหรือแซงหน้าเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวที่ว่า เงินหยวนแซงเงินดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุดในประเทศรัสเซียแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 และ volume เพิ่มมากกว่าอย่างชัดเจนขึ้นในเดือนมีนาคม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 Bloomberg และสื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า จีนบรรลุอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการพยายามลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยสัดส่วนการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของจีนพุ่งแซงหน้าสัดส่วนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ตามการศึกษาของ Bloomberg Intelligence อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange) ของประเทศจีน สัดส่วนที่จีนใช้เงินหยวนในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ (cross-border payment) เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 48% ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากที่อยู่เกือบ 0% ในปี 2553 ขณะที่สัดส่วนของการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงเหลือ 47% จาก 83% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
แต่เนื้อหาข่าวเผยไส้ในด้วยว่า อัตราส่วนนี้คำนวณบนฐานของปริมาณของการทำธุรกรรมทุกประเภท รวมถึงการซื้อขายสินทรัพย์ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนของจีนแผ่นดินใหญ่กับตลาดทุนในฮ่องกง
ดังนั้น สัดส่วนการใช้เงินหยวนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นภาพแทนว่าเงินหยวนถูกใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างจีนกับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกมากขนาดนั้น
อิงตามข้อมูลจาก SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินทั่วโลก สัดส่วนการใช้เงินหยวนในการจ่ายค่าสินค้าและบริการในเดือนมีนาคม 2566 เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย มีสัดส่วนที่ 2.3% เท่านั้น
โฆษกของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566 ว่า สัดส่วนการใช้เงินหยวนที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้บริษัทท้องถิ่นลดความเสี่ยงของสกุลเงินที่ไม่ตรงกันในการทำธุรกรรมได้ ส่วนคณะมนตรีรัฐกิจ (State Council) ระบุในแนวทางการส่งเสริมการค้าต่างประเทศที่ออกเมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 ว่า จีนจะเพิ่มการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมข้ามประเทศอีก
คริส เหลียง (Chris Leung) นักเศรษฐศาสตร์ของ DBS Bank กล่าวว่า การทำให้หยวนเป็นสกุลเงินสากลกำลังเร่งตัวขึ้น เนื่องจากประเทศอื่น ๆ แสวงหาสกุลเงินทางเลือกในการชำระเงินเพื่อกระจายความเสี่ยง และเนื่องจากความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางสหรัฐไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน
“แต่ในขณะเดียวกัน เรากำลังพูดถึงระยะทางที่ยังห่างไกลจากการครอบงำของเงินดอลลาร์ และส่วนแบ่งของการใช้เงินหยวนในการชำระเงินทั่วโลกก็อาจจะน้อยไปตลอดกาล”
แม้ว่าจะยังห่างไกล และในที่สุดเงินหยวนอาจจะโค่นเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ แนวโน้มการใช้เงินหยวนมากขึ้นจริง ล่าสุด Reuters รายงานว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศเมื่อวันที่ 26 เมษายนว่า อาร์เจนตินาจะใช้เงินหยวนจ่ายค่านำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อลดการไหลออกของเงินดอลลาร์ เนื่องจากอาร์เจนตินาประสบปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่อยหรอ
อาร์เจนตินาเริ่มใช้เงินหยวนจ่ายค่านำเข้าจากจีนแล้วในเดือนเมษายน ตั้งเป้าว่าจะใช้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนแรก และหลังจากนั้นจะใช้เดือนละ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ