“ค่าเหยียบแผ่นดิน” เลื่อนยาว หวั่นทุบมู้ดเดินทางนักท่องเที่ยว

ค่าเหยียบแผ่นดิน

เลื่อนจัดเก็บไปแบบไม่มีกำหนดต่อไป สำหรับ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือ ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (TTF) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบให้จัดเก็บในอัตรา 300 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางผ่านทางทางบกและทางน้ำ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) นำเสนอ

จัดงบฯ 50 ล้านดูแลนักท่องเที่ยว

ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการ “ช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่บาดเจ็บและเสียชีวิต” วงเงิน 50 ล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว

เป็นการสื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยปลอดภัย” ทุกคนที่มาเที่ยวจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายสำหรับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยวงเงิน 50 ล้านบาทจะใช้สำหรับดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสบเหตุในประเทศไทยในกรณีเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม และภัยด้านอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 สิงหาคม 2567

มีอัตราชดเชยกรณีเสียชีวิตไม่เกิน 1 ล้านบาท กรณีสูญเสียอวัยวะถาวร สูญเสียดวงตา ทุพพลภาพถาวร ให้เหมาจ่าย 300,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท โดยผู้ยื่นคำขอต้องถือหนังสือเดินทางที่ลงตราประเภทนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้

ได้กองทุนเยียวยาฯ กลับมา

“สุรวัช อัครวรมาศ” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ 1 ในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ผู้ทำงานและร่วมประชุมขับเคลื่อน พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวไทย บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดสรรงบฯจำนวน 50 ล้านบาท มาดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติกรณีประสบเหตุในประเทศไทยนั้นถือเป็นนโยบายที่ดีและควรมีมานานแล้ว

ADVERTISMENT

เพราะรัฐบาลได้ยุบกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 โดยให้เหตุผลในตอนนั้นว่าจะมีกองทุนใหม่ตามกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งเงินจะมาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน การจัดสรรงบฯ 50 ล้านมาใช้ก่อนเริ่มจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จึงเปรียบเสมือนได้กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอันเดิมกลับมา

“กว่า 1 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่เข้ามาประสบเหตุในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ประกันส่วนตัว ส่วนคนที่ไม่มีประกันหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องดูแลและเยียวยานักท่องเที่ยว”

ADVERTISMENT

ยันหนุนการจัดเก็บ

“สุรวัช” ย้ำว่า ส่วนตัวยังคงยืนยันว่าอยากให้รัฐบาลเริ่มจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินได้แล้ว และเชื่อว่าอัตราการจัดเก็บ 300 บาทสำหรับทางอากาศ และ 150 บาทสำหรับทางบกและทางน้ำนั้นไม่กระทบกับความรู้สึกของนักท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาคณะทำงานได้ทำการศึกษาทางวิชาการแล้วว่าอัตราการนั้นไม่ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

จึงอยากฝากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทำความเข้าใจกับเจตนารมณ์ พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติให้ดี ๆ เพราะเชื่อว่าการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเป็นประโยชน์กับประเทศ ช่วยลดภาระงบประมาณในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยวที่รัฐสูญเสียงบประมาณแผ่นดินปีละราวประมาณ 300-400 ล้านบาท จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวน หรือส่วนที่ต่างชาติเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วไม่มีเงินจ่าย

ที่สำคัญ รายได้จากการจัดเก็บนี้ยังนำมาดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว พัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และทำการตลาดด้วย

นอกจากนี้ ยังจัดสรรส่วนหนึ่งไปทำประกันภัย ดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

ชี้กฎหมายระบุให้จัดเก็บ

สอดรับกับแหล่งข่าวในวงการท่องเที่ยวรายหนึ่งที่บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลไม่ควรชะลอการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพราะนโยบายดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) นำเสนอให้มีการจัดเก็บเพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดให้มีประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในระหว่างเที่ยวภายในประเทศไทย

พร้อมทั้งจัดตั้ง “กองทุนเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวไทย” เพื่อใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการ การตลาด การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ

เชื่อสถานการณ์วันนี้ไม่มีใครทำ

ขณะที่ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายชะลอการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขณะนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงของทุกประเทศและมีความท้าทายสูงมาก ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทาง หรือ Ease of Traveling ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ เห็นชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันมาตรการวีซ่าฟรีกับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงแผนการขับเคลื่อนวีซ่าฟรีสำหรับประเทศในยุโรป (Schengen Visa) และประเทศในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Visa) รวมถึงความพยายามในการทำอีเวนต์ต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ให้บรรลุเป้าหมายรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท

“นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งสิ้น จึงมองว่าสถานการณ์แบบนี้ไม่น่าจะมีใครอยากให้เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน”

และยังเชื่อด้วยว่า การชะลอการจัดเก็บนี้จะไม่กระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาวด้วย เพราะทุกกระทรวงมีงบประมาณสำหรับซ่อมสร้างอยู่แล้วนั่นเอง

ที่สำคัญ มองว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ก็จะส่งผลต่อ GDP และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ยันแค่เลื่อน-ไม่ได้ยกเลิก

“สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ข้อมูลว่า ในระยะ 5-6 เดือนนี้ กระทรวงจะยังไม่มีนโยบายดำเนินการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 จึงอยากกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเข้ามาในจำนวนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ

“เรายืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกนโยบายเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพียงแต่ยังไม่มีการจัดเก็บ”

พร้อมให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว