
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
ความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บวกกับปัจจัยลบ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ซบเซา หนี้ครัวเรือนที่สูง อัตราเงินเฟ้อติดลบ และน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคเหนือ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวช่วงโค้งสุดท้ายของปี หรือไฮซีซั่นนี้
และกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงได้เร่งดำเนินมาตรการฟื้นฟูภาพลักษณ์ พร้อมแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้อย่างหนัก
เร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “นิธี สีแพร” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้าย รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยของปีนี้ ดังนี้
“นิธี” บอกว่า ขณะนี้ ททท.โฟกัสการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้กลับมาโดยเร็ว เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกำลังสู่ไฮซีซั่น
โดยแบ่งพื้นที่ฟื้นฟูที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 ระดับคือ A พื้นที่ฟื้นฟูได้ทันที เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อย สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติหลังสถานการณ์คลี่คลาย, B พื้นที่ต้องปรับปรุง เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายบ้าง ต้องมีการปรับปรุงก่อนเปิดให้บริการ และ C พื้นที่ปิดให้บริการ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต้องปิดให้บริการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นสถานการณ์จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
9 เดือนแรกรายได้ 7.68 แสน ล.
“นิธี” บอกด้วยว่า สำหรับภาพรวมของการท่องเที่ยวภายในประเทศของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ที่ผ่านมา พบว่าสร้างรายได้ไปแล้วรวม 7.68 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากจำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 207 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 8.31%
จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ ททท.คาดว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับปี 2567 นี้จะมีมูลค่าที่ประมาณ 9.5-9.7 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าประมาณ 4%
“แม้ว่าคนไทยจะยังออกเดินทาง แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้คนไทยมีการใช้จ่ายสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง รวมถึงยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง”
ยึดธีม “สุขทันที…ที่เที่ยวไทย”
“นิธี” บอกว่า ปกติไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่น และเป็นช่วงที่รายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด หรือประมาณ 35% ของมูลค่ารายได้ตลอดทั้งปี ปีนี้ ททท.จึงวางแผนสำหรับการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาทให้ได้มากที่สุด
โดยยึดแนวทางตามที่รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย IGNITE THAILAND ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวโลก 1 ใน 8 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ททท.ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความถี่ในการเดินทาง และการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้น และกระจายไปในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้แคมเปญ “สุขทันที…ปลายปีเที่ยวไทย” และ “สุขทันที…ที่เที่ยวเมืองรอง” ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญใหญ่ “สุขทันที…ที่เที่ยวไทย”
เน้นการสื่อสารเพื่อดึงให้คนไทยมองว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีคุณค่าด้านจิตใจ และหันมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศแทนการวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ
ชู “Soft Power-เสน่ห์ไทย”
รวมถึงสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยว 5 ภูมิภาคทั่วไทย ด้วยการนำเสนอจุดขายของสินค้าและบริการในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยเสน่ห์ไทย (Soft Power of Thailand) ผ่านแนวคิด 5 กิจกรรมท่องเที่ยว 5 Must Do in Thailand ที่ต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง
ประกอบด้วย Must Taste = อิ่มอร่อยกับอาหารจานเด็ด Must Try = สุดยอดกีฬาท้าทายกายใจ Must Buy = ของกินของฝากล้ำค่า น่าซื้อหา Must Seek = แหล่ง Unseen ถิ่นน่าเที่ยว และ Must See = การแสดงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ มองว่านอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้แล้ว ยังเป็นแรงส่งไปถึงปี 2568 ด้วย
ทุกเมืองเป็น “เมืองน่าเที่ยว”
พร้อมทั้งส่งเสริมทุกเมืองในประเทศไทยเป็น “เมืองน่าเที่ยว” โดยดึงจุดเด่นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
โดยมีทั้งกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การยกระดับผู้ประกอบการไทย การจัดดีลพิเศษเพื่อให้เกิดการเดินทางในช่วงวันธรรมดามากขึ้น โดยแคมเปญใหญ่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้คือ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” ซึ่งได้จัดทำ e-Book สุขท้าลอง 72 สไตล์ สำหรับเป็นคู่มือการเดินทางให้นักท่องเที่ยวได้ใช้งานจริง
อัด “อีเวนต์” ครีเอตดีมานด์
“นิธี” บอกว่าปัจจุบันรายได้การท่องเที่ยวยังมาจากเมืองหลักประมาณ 70% เมืองรอง หรือเมืองน่าเที่ยว 30% แต่เป้าหมาย ททท. คือพยายามทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลักมากขึ้น ทั้งสนับสนุนให้เอกชนมาลงทุน การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวอันซีน ฯลฯ โดยใช้อีเวนต์เป็นตัวครีเอตดีมานด์
พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า แนวทางหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การทำการตลาดร่วมกับประเด็นที่เป็นกระแส เช่น ทำแคมเปญน้องหมูเด้ง โปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างทางไปหา “น้องหมูเด้ง” จาก 5 ภาคทั่วไทย และร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ฯลฯ ระหว่างทางให้ส่วนลดพิเศษ, แคมเปญ “หมีเนย ชวนมัมหมีเที่ยวไทย” ลุ้นรางวัลร่วมงานแฟนมีต เป็นต้น
นอกจากนี้ ททท.ยังมีอีเวนต์ขนาดใหญ่สำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อผลักดันจำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยวสู่เป้าหมายท้ายปี อาทิ Thailand Winter Festival, โครงการ Vijit Chao Praya, สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง, Amazing Thailand Signature และ Amazing Thailand Marathon Bangkok 2024 เป็นต้น
รวมถึงอีเวนต์ใหญ่ตลอดปี 2568 ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2568 เป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 เช่น กีฬาซีเกมส์ การแข่งขัน F1 เทศกาลดนตรี Tomorrow Land ฯลฯ
มุ่งสู่ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน ททท. ยังมุ่งเน้นส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ หรือ Sustainable Tourism เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย
โดยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ททท.จะพัฒนาแบรนด์ Amazing Thailand ให้มุ่งสู่ความยั่งยืน กระตุ้นให้คนไทยตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ใส่ใจกับสังคมและโลกมากขึ้น เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวดี ๆ อยู่กับประเทศไทยตลอดไป
ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสำหรับปี 2568 ให้เพิ่มขึ้น 7.5% หรือมีรายได้รวมที่ 3.4 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน และการเดินทางภายในประเทศกว่า 205 ล้านคน-ครั้ง