เปิดนโยบาย “ท่องเที่ยว” 5 พรรคการเมืองใหญ่…ใครปัง!

24 มีนาคมนี้ คือ อีกหนึ่งเช็กพอยต์กำหนดเส้นทางเดินประเทศไทยจากนี้ไปอีก 4 ปี พรรคการเมืองจึงพาเหรดกันออกมาโชว์วิสัยทัศน์ ประชันการดีเบตเรียกคะแนนช่วงสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดการเสวนา “นโยบายท่องเที่ยว…พรรคไหนปัง” ในวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมาโชว์วิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

กระจายอำนาจเชิงภารกิจ-ทุน

“โภคิน พลกุล” แกนนำ “พรรคเพื่อไทย”อดีตแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลายสมัย อธิบายว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยติดกับดักอำนาจนิยมและรัฐราชการ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวได้เท่าที่ควร พรรคเพื่อไทยมองว่าจะต้องส่งเสริมบทบาทของประชาชนและท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมออกแบบยุทธศาสตร์ไปด้วยกัน โดยการกระจายอำนาจทั้งในเชิงภารกิจและทุน

โดยนอกจากแบ่งภารกิจให้ท้องถิ่นแล้วนั้น ส่วนกลางจำเป็นจะต้องแบ่งเงินทุนออกไปให้ท้องถิ่นมากเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” มีเป้าหมายจะยกระดับตัวเลขด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคนตอนนี้ เป็น 50 ล้านคน พร้อมเพิ่มรายได้จาก 2 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้นยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มการจ้างงานด้านการท่องเที่ยวจาก 6.4 ล้านงาน ให้เป็น 8 ล้านงาน รวมถึงจะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวใน GDP จาก 18.1% เป็น 23-25% และเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตนเอง (FIT) จาก 74% ให้เป็น 80% เพื่อเพิ่มคุณภาพของนักท่องเที่ยว

โดยดำเนินการผ่านนโยบาย 10 ข้อหลักได้แก่ 1.สร้างความมั่นใจด้านมาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว 2.สร้างจุดขายท่องเที่ยวทุกจังหวัด one district, one destination 3.สร้างโปรดักต์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีก 4.สร้าง world wellness destination

5.สร้างอีเวนต์ให้ยิ่งใหญ่และน่าสนใจมากขึ้น 6.ทำไทยให้เป็นฮับของการท่องเที่ยวภูมิภาค 7.ทำ Thailand tourismplatform สร้างระบบแอปพลิเคชั่นเพื่อการเข้าถึงข้อมูล 8.ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าบางชาติ 9.เปิดให้มีการใช้วีซ่าระยะยาว และ 10.ทลายกำแพงด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้เกิดง่ายที่สุด

สร้างสมดุล “จำนวน-คุณภาพ”

ขณะที่ “ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” รองเลขาธิการ “พรรคประชาธิปัตย์” อธิบายว่า นโยบายด้านการท่องเที่ยวหลักของประชาธิปัตย์นั้นประกอบไปด้วย 4 ข้อหลัก คือ 1.แก้ไขปัญหาจากท้องถิ่น โดยให้จังหวัดจัดการตนเอง เนื่องจากไม่มีใครรู้จักและเข้าใจพื้นที่ได้ดีไปกว่าคนในท้องถิ่นเอง

2.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดการสร้างรถไฟฟ้าให้แล้วเสร็จโดยเร็วอย่างไร้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดราคาตลอดทั้งสาย 3.พัฒนาคนโดยการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภาคการท่องเที่ยวและการให้บริการ และ 4.สร้างสมดุลระหว่างการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวไปพร้อมกับการเพิ่มคุณภาพของนักท่องเที่ยว

ดัน “บุรีรัมย์โมเดล” ทั่วประเทศ

ฟาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการ “พรรคภูมิใจไทย” อธิบายว่า พรรคภูมิใจไทยเชื่อว่า “บุรีรัมย์โมเดล” คือ ตัวอย่างของความสำเร็จที่ทำให้บุรีรัมย์เปลี่ยนจากจังหวัดที่ไม่มีอะไรมาเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวถึง 3 ล้านคนมาแล้ว และโมเดลที่ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยตนเองจะกลายเป็นกุญแจที่นำไปสู่การพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศไทยให้มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวได้

นอกจากนี้ “พรรคภูมิใจไทย” ยังสนับสนุนปลดล็อกกฎหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว
เพิ่มมากขึ้น อาทิ การขับ Grab ถูกกฎหมาย การปลดล็อกโฮมสเตย์ รวมถึงจะส่งเสริมนโยบายปลูกกัญชาเสรีเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และสร้างวันกัญชา ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศอีกด้วย

เน้นยั่งยืน-กระจายรายได้

ส่วน “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษา “พรรคชาติพัฒนา” มองว่า นโยบายทางด้านการท่องเที่ยวจะต้องตอบโจทย์หลัก 2 ข้อ ได้แก่ อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน และก่อให้เกิดการ กระจายรายได้

โดยพรรคตั้งเป้าหมายไว้ว่า หากได้เป็นพรรครัฐบาล ภายใน 5 ปีจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เท่ากับประชากรไทยที่ประมาณ 70 ล้านคน พร้อมเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 25% ของ GDP

พร้อมวางยุทธศาสตร์ไว้ 4 ส่วน ดังนี้ 1.เร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว อาทิ ถนนหนทาง มอเตอร์เวย์ รถไฟ 2.นำสินค้าโอท็อป มาส่งเสริมการท่องเที่ยว และนำกีฬามาดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

3.เร่งสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวมนุษย์สร้าง หรือ man made destination ผ่านกองทุน BOI และ 4.เร่งพัฒนาไทยแลนด์ริเวียร่า สร้างชายฝั่งภาคตะวันตกของอ่าวไทยให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ชู “ขนส่ง-ดิจิทัล” หนุนท่องเที่ยว

ด้าน “ศุภรี ฉัตรกันยารัตน์” ผู้ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ “พรรคอนาคตใหม่” พรรคน้องใหม่ของการเลือกตั้งครั้งนี้ เล่าว่า การท่องเที่ยวเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแค่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนอย่างมีนัยสำคัญ

การยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวโลกที่สมบูรณ์ขึ้นจึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายเสาหลักทั้ง 8 ด้านของพรรคอนาคตใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาหลักทางด้านการขนส่งและด้านดิจิทัล ที่จะช่วยให้การท่องเที่ยวก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าหากขาดการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน โดยพรรคอนาคตใหม่ต้องการจะให้ท้องถิ่นสามารถใช้ภาษีที่เก็บจากท้องถิ่นเองในการบริหารงานเพื่อพัฒนาพื้นที่

นอกจากนั้น ในฐานะคนที่เคยทำงานด้านมัคคุเทศก์และอยู่ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมายาวนาน “ศุภรี” ยังเชื่อว่า ในเชิงประเด็นนั้น การท่องเที่ยวไทยจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพมัคคุเทศก์ เพื่อกำกับดูแลมัคคุเทศก์ให้มากขึ้นด้วย