“เจมส์ แกลอรี่” รุกปั้นแบรนด์ ลงทุนดิวตี้ฟรีบาลานซ์พอร์ตรายได้

สัมภาษณ์

กว่า 30 ปีที่ “เจมส์ แกลอรี่” ได้ปลุกปั้นธุรกิจร้านจิวเวลรี่ให้อยู่คู่กับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย ภายใต้การนำทัพของ “นิกร หงษ์ศรีสุข” ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ของไทยรวมถึง 4 สาขา

วันนี้การบริหารงานของกลุ่ม “เจมส์ แกลอรี่” ทั้งหมด ได้ถ่ายโอนให้กับรุ่นลูกหรือเจเนอเรชั่น 2 เข้ามารับช่วงบริหารงานต่ออย่างเป็นทางการแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “น็อต-ณัฐพล หงษ์ศรีสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอส ดิวตี้ฟรี จำกัด ผู้บริหาร GMS Duty Free Phuket 1 ใน 4 ทายาทของ “นิกร หงษ์ศรีสุข” ที่ได้มอบหมายให้เป็นผู้บริหารในธุรกิจดิวตี้ฟรี ภายใต้แบรนด์ “GMS Duty Free” และหนึ่งในผู้บริหารของ “เจมส์ แกลอรี่” อาณาจักรร้านจำหน่ายจิวเวลรี่ของประเทศไทย

ขยายตัวตามนักท่องเที่ยวจีน

“น็อต-ณัฐพล” บอกว่า ธุรกิจของ “เจมส์ แกลอรี่” นั้น เปิดมา 32 ปี ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ 4 สาขาคือ กรุงเทพฯ (พระราม 6), พัทยา, ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ พัทยา ตามด้วยภูเก็ต, กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสาขาที่มีขนาดเล็กที่สุด เนื่องจากวอลุ่มการขายยังไม่มากนัก

การทำการตลาดของ “เจมส์ แกลอรี่”ในยุคแรก ๆ นั้นได้มุ่งโฟกัสตลาดนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นหลัก เพิ่งมาเริ่มเจาะเข้าตลาดจีนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีพอร์ตรายได้ในตลาดจีนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการเติบโตตามแนวโน้มของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน

แต่ระยะหลังมีร้านจิวเวลรี่เปิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามไปด้วย และทำให้ตลาดของกลุ่มเจมส์ แกลอรี่หายไปบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับเนื่องจากการแข่งขันของตลาดจีนนั้นต่างจากตลาดอื่น ๆ พอสมควร

“ณัฐพล” อธิบายว่า ตลาดหลักของเจมส์ แกลอรี่ในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2-3 ส่วนใหญ่คือ 1.ตลาดจีน ซึ่งกลายเป็นตลาดที่มีสัดส่วนมากที่สุด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมาหลายปี 2.ตลาดยุโรป ซึ่งเป็นฐานตลาดดั้งเดิมนั้น บริษัทก็ยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเช่นกันและ 3.ตลาดอาเซียน (กำลังขยาย)

“ตอนนี้เรายังมียอดซื้อสินค้าจากตลาดจีนในสัดส่วนมากกว่า 60% ของยอดขายรวมทั้งหมด ส่วนตลาดอื่น ๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งที่เริ่มเห็นสัญญาณดีและเริ่มกลับมาคือ อเมริกา ที่มีพฤติกรรมช็อปปิ้งมากขึ้น เพียงแต่วอลุ่มอาจจะยังไม่มากนัก”

ตลาดรวมเริ่มอิ่มตัว

พร้อมทั้งบอกว่า ปัจจุบันจิวเวลรี่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัว หรือเรียกว่าชะลอตัวก็ไม่ผิดนัก แต่ก็ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ เพียงแต่การเติบโตไม่ได้ดีเหมือนยุคก่อน เพราะลูกค้าทัวร์โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่หันไปช็อปสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ไม่ค่อยนิยมซื้อสินค้าจิวเวลรี่เหมือนลูกค้ารุ่นก่อน ทายาทหนุ่มเจมส์ แกลอรี่ยังบอกด้วยว่า โครงสร้างธุรกิจร้านจิวเวลรี่

ส่วนใหญ่จะพึ่งพาบริษัทนำเที่ยวเป็นหลัก แต่แนวโน้มขณะนี้พบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางกับบริษัทนำเที่ยวลดลง ซึ่งประเด็นนี้มีการคุยกันในครอบครัวมาตลอด เพื่อตั้งรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในอนาคต

ปรับตัวตามเทรนด์ท่องเที่ยว

ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีมานี้กลุ่มเจมส์ แกลอรี่จึงพยายามปรับตัวมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างราคาสินค้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวจับต้องได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในยุคก่อนสินค้าจิวเวลรี่ที่นำมาขายจะเน้นตัวเรือนทอง 18K ก็จะปรับลดลงมาเพื่อให้มีโครงสร้างราคาที่ถูกลง รวมถึงเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีดีไซน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ในระยะหลังนี้ยังได้ปรับพื้นที่ขายบางส่วนด้วยการนำเอาผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น หมอน ที่นอน ฯลฯ รวมถึงสมุนไพรไทยเข้ามาจำหน่ายด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้าของเจมส์ แกลอรี่ด้วย

รุกสร้าง-โปรโมตแบรนด์

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ “เจมส์ แกลอรี่” และโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นกลุ่มกรุ๊ปทัวร์และกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) รวมถึงเพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลาย และมีดีไซน์ที่ทันสมัย ระดับราคาขายต่อชิ้นมีตั้งแต่ราคาหลักพันกระทั่งถึงหลักสิบล้านบาท และขยายฐานกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่คนรุ่นใหม่ด้วย

โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ “เจมส์ แกลอรี่” ยึดถือปฏิบัติมาตลอด และถือเป็นจุดขายที่แตกต่างอย่างชัดเจนในตลาดร้านจิวเวลรี่ และทำให้บริษัทยังสามารถแข่งขันได้คือ คุณภาพของสินค้าที่นำมาจำหน่ายและบริการที่ดี รวมถึงเรื่องการรับประกันคุณภาพ มูลค่าของสินค้า และความพึงพอใจของลูกค้าตลอดชีพ (lifetime guarantee) พร้อมรับคืนสินค้าในราคาเต็ม ซึ่งเป็นร้านเดียวในโลก

ลงทุนดิวตี้ฟรีเสริมพอร์ตรายได้

และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจและต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ทางกลุ่ม “เจมส์ แกลอรี่” ได้ขยายพอร์ตธุรกิจไปสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรี ด้วยการร่วมทุนกับกลุ่มเดอะมอลล์ และ The Shilla ผู้ประกอบการธุรกิจดิวตี้ฟรีจากเกาหลีใต้ ภายใต้ชื่อ “GMS Duty Free Phuket” ดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี ในภูเก็ต ซึ่งเปิดบริการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2559

ทั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากการเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า หรือ pick up counter ที่สนามบินภูเก็ตที่บริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. มีมติให้ผู้ได้สิทธิบริหารจุดส่งมอบสินค้าต้องเปิดให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองรายอื่น ๆ ใช้บริการด้วย หรือที่เรียกว่า common use นั่นเอง

“ณัฐพล” บอกว่า GMS Duty Free Phuket เป็นศูนย์รวมสินค้าปลอดภาษีแบรนด์ดังระดับโลก บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 20,000 ตารางเมตร อาทิ สินค้าเครื่องสำอางและน้ำหอม, สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ, แบรนด์นาฬิกาหรูคุณภาพ รวมถึงสินค้าที่คัดสรรมาอีกจำนวนมาก อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง และแผนกสินค้าไทย ฯลฯ

เรียกว่า เป็นร้านดิวตี้ฟรีที่มีสินค้าแบรนด์เนมหลากหลายไม่แพ้คู่แข่งรายใหญ่ในภูเก็ตเช่นกัน

“ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการนั้น คนยังไม่ค่อยรู้จัก GMS จึงพยายามโปรโมตในกลุ่มบริษัทนำเที่ยว ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเขาได้วางโปรแกรมนำเที่ยวไปเรียบร้อยแล้ว โจทย์ของเราในวันนั้นคือ เราจะเพิ่มทางเลือกให้กับเขาได้อย่างไร แต่ปัจจุบันนี้ถือว่าเราได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

เมื่อถามว่ากลุ่ม GMS มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในส่วนดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี ในตลาดกรุงเทพฯหรือไม่ อย่างไร เพราะบริษัทท่าอากาศยานไทยมีแผนที่จะเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วยเช่นกัน “ณัฐพล” บอกว่า ทางกลุ่มผู้ร่วมลงทุนก็ได้ติดตามสถานการณ์และมองดูช่องทางไว้เหมือนกัน เพียงแต่ยังพูดอะไรได้ไม่มาก เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนของทีโออาร์ประมูลจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่สำคัญ มองว่าตลาดกรุงเทพฯเป็นตลาดที่การแข่งขันสูง และปัจจุบันก็มีผู้เล่นรายใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอย่าง “คิง เพาเวอร์” อยู่แล้ว และยังมีกลุ่ม “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” จากเกาหลี ที่เข้ามาลงทุนไว้รอแล้วเช่นกัน

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ GMS Duty Free ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนในสเต็ปต่อไป