“ม.หอการค้าฯ” ชี้ทางรอดเที่ยวไทย โฟกัส “นักท่องเที่ยวคุณภาพ-เพิ่มรายได้”

ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจทุกภาคส่วนหยุดชะงัก แต่หากมองวิกฤตเป็นโอกาสการหยุดชะงักของธุรกิจได้ทำให้ผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนมีช่วงเวลาที่ดีในการทบทวนตัวเอง และวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงเวลานี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ยงยุทธ แก้วอุดม” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงมุมมอง แนวคิด และโอกาสในการวางรากฐานและโครงสร้างของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย หลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ไว้ดังนี้

การเน้นจำนวนคือจุดอ่อน

“ดร.ยงยุทธ” เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ว่า จุดอ่อนหรือช่องโหว่ของโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ การบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับ “ปริมาณ” ของนักท่องเที่ยวมากกว่า “คุณภาพ” และวัดความสำเร็จ หรือความเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งที่จริงแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้นเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการขยายตัวกว่า 8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขยายตัวเพียง 2% เกินขีดความสามารถของพื้นที่

“ดร.ยงยุทธ” บอกว่า เมื่อตัวชี้วัดความสำเร็จของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือ “ปริมาณ” การบริหารจัดการการท่องเที่ยวจึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยไม่ได้ศึกษาถึงขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงให้กับรายได้ของการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตได้ และไม่ใช่หนทางที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างแท้จริง

“แม้ว่าปัจจุบันเรามีทิศทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ การนำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์และมีมูลค่าสูง ตลอดจนการสร้างประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว หรือ tourism journey เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว แต่หลายภาคส่วนก็ยังให้ความสำคัญกับการบริหารที่เน้นปริมาณอยู่ดี”

นักท่องเที่ยวคุณภาพหนี

“ดร.ยงยุทธ” บอกอีกว่า จากแนวทางดังกล่าวทำให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง หรือ over tourism ที่ยิ่งเป็นแรงหนุนให้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวของไทยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การรับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดจำนวนและไม่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะการทำลายเสน่ห์และบรรยากาศทางการท่องเที่ยว รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางซ้ำของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งนิยมสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ทำให้สุดท้ายได้นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายน้อย

นักท่องเที่ยวกระจุกตัว

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณยังส่งผลต่อการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้เกิดการกระจุกตัวในเชิงสัญชาติ อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด ทำให้หลายภาคส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก

การพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่งมากจนเกินไปย่อมเกิดความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในเชิงลบกับประเทศนั้น ๆ จะส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยว และกระทบต่อรายได้ของการท่องเที่ยวตามมาทันที

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะการแข่งขันกันด้วยราคาเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยว ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะส่งผลให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวมีราคาที่ถูกลงในขณะเดียวกัน คุณภาพก็ด้อยลงด้วย ซึ่งสวนทางกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยที่ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง

“ซ่อมแซม สร้างสรรค์ พัฒนา”

“ดร.ยงยุทธ” ยังบอกด้วยว่า หากจะอาศัยช่วงเวลาวิกฤตการณ์โควิดนี้ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างการท่องเที่ยวที่เป็นช่องโหว่หรือจุดอ่อน อาจใช้หลักของ “การซ่อมแซม สร้างสรรค์ พัฒนา” กล่าวคือหลังจากกำหนดทิศทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการ “เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ” และ “เพิ่มรายได้” โดยการกำหนดความเข้าใจของทุกภาคส่วนให้ถูกต้อง และปฏิบัติอย่างจริงจัง

ทุกฝ่ายควรมุ่ง “ซ่อมแซม” ซึ่งหมายถึงการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้มีสภาพที่สมบูรณ์ดังเดิม พร้อม “สร้างสรรค์” คือ การออกแบบและสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ เน้นการสร้างประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว โดยออกแบบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่ต้องยึดหลัก ต่อยอด เพิ่มค่า และหาจุดต่าง รวมถึงมุ่ง”พัฒนา” คุณภาพและมาตรฐานของการท่องเที่ยว โดยยึดหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวมากกว่าคุณภาพ คือ การได้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่เกิดผลกระทบขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งรายได้ที่ไม่ได้สูงขึ้นจริงตามจำนวนนักท่องเที่ยว ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคนในพื้นที่

ดังนั้น การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยใช้หลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การ

บริหารจัดการการท่องเที่ยวของไทยเติบโตไปในทิศทางที่ยั่งยืน และอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจากการบริหารการท่องเที่ยวนี้ได้

นอกจากนี้ ไทยยังควรปรับแก้ในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย เพราะหลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวจะมีความระมัดระวังในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ปัจจัยในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวจะไม่ใช่แค่ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวจะมองเรื่องความปลอดภัย และความสะอาดเป็นอันดับแรก

และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว

เร่งชู “ความสะอาด-ปลอดภัย”

สำหรับในส่วนของการดำเนินงานนั้น “ดร.ยงยุทธ” บอกว่า ต้องกำหนดเป็นแผนระยะสั้น แผนระยะยาว โดยพิจารณาจากประเด็นที่เร่งด่วน เช่น การจัดการเรื่องความปลอดภัย และความสะอาดควรต้องจัดการอย่างเร่งด่วนก่อนเรื่องอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและหลังจากเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นฟูไปในทิศทางที่ดีขึ้น

หลังจากนั้นเชื่อว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางอาจจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เนื่องจากต้องเดินทางเพื่อการค้าหรือธุรกิจ ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนอาจจะยังน้อยอยู่ เนื่องจากยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวได้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว

และที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมที่จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มคนไทย เพราะทุกวิกฤตที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นมาได้ก็ด้วยความร่วมมือกันของคนไทยด้วยกันเองทั้งสิ้น…