แอร์เอเชีย รุกยึดสุวรรณภูมิ ชิงเกม ‘บินไทย’ เพลี่ยงพล้ำ

แอร์เอเชีย ผุดโปรขาย
File Photo by DIBYANGSHU SARKAR / AFP

ธุรกิจแอร์ไลน์ฝุ่นตลบ “ไทยแอร์เอเชีย” อาศัยจังหวะจุดเปลี่ยนอุตฯการบิน ยึดฮับ “สุวรรณภูมิ” สำเร็จ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” นายใหญ่ลั่น ตรงไหนมีโอกาสพร้อมเปิดทำการบินหมด คาดเปิดบินปลาย ส.ค.-ต้น ก.ย.นี้ “การบินไทย” โอดซ้ำเติมสายการบินแห่งชาติ วงในชี้เกมเพิ่มแต้มต่อไทยแอร์เอเชียยึดตลาดหลังเปิดประเทศ จุดเปลี่ยนอุตฯการบิน

แหล่งข่าวจากธุรกิจสายการบินรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจสายการบินของไทยทุกรายอยู่ในภาวะที่ยากลำบากและขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องลดขนาดองค์กร ทั้งปรับลดพนักงาน ปรับลดเส้นทางการบิน ฯลฯ เพื่อให้สอดรับกับดีมานด์ของตลาดที่ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ หรือเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าให้ทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศ ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการสายการบินส่วนใหญ่ต้องทนแบกรับต้นทุนจำนวนมาก

“ตอนนี้สายการบินของไทยเจ็บหนักกันทุกราย แนวทางที่พวกเราขอให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 25,000 ล้านบาท ที่ 8 สายการบินรวมกลุ่มกันยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังก็ยังไม่มีความชัดเจน สายการบินบางแห่งอย่างกรณีนกสกู๊ตก็แบกรับภาระไม่ไหว ตัดสินใจปิดตัวลงไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าหากรัฐบาลไม่รีบช่วยเหลือน่าจะมีอีกหลายสายการบินที่จะต้องปิดตัวลงในเร็ว ๆ นี้อีกแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

“แอร์เอเชีย” เพิ่มฮับสุวรรณภูมิ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางรายที่ยังพอมีพละกำลังก็ได้ดิ้นหาโอกาส ทั้งการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ๆ ฯลฯ เพื่อรองรับนโยบายการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาล โดยล่าสุดพบว่าสายการบินไทยแอร์เอเชีย เจ้าพ่อโลว์คอสต์ของไทยได้สิทธิขยายฐานการบิน (ฮับ) ไปสู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชียมีเครือข่ายการบินที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จทุกท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย จากเดิมที่มีฐานการบินอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, กระบี่ และอู่ตะเภา

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวมองว่าท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ ควรจะมีสายการบินที่เป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ให้บริการได้ในจำนวนที่มากกว่า 1 ราย แต่ปัจจุบันมีเพียงแค่สายการบินไทยเวียตเจ็ทเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว

โดยคาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์โควิดภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะยังคงชะลอตัว นักท่องเที่ยวจะมีกำลังซื้อที่ลดลง น่าจะนิยมเดินทางโดยสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมี่ยมที่นิยมเดินทางด้วยสายการบินฟูลเซอร์วิสก็ยังมีการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ให้บริการอยู่เหมือนเดิม

ขยายฐานชิงลูกค้า

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า การเพิ่มฐานการบิน (ฮับ) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิอีกแห่งหนึ่งถือเป็นการหาโอกาสใหม่และทำให้ไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย

“นโยบายของกลุ่มไทยแอร์เอเชียขณะนี้คือ ตรงไหนมีโอกาสเราจะทำ และพร้อมที่จะเปิดเส้นทางบินตลอดเวลา โดยนอกจากเส้นทางบินหลัก ๆ แล้ว ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็พยายามเปิดเส้นทางบินข้ามภาค เช่น เชียงใหม่-หาดใหญ่, เชียงใหม่-พัทยา (อู่ตะเภา), หาดใหญ่-พัทยา (อู่ตะเภา), ขอนแก่น-หาดใหญ่ หรือล่าสุดที่เปิดเส้นทางบินจากเชียงใหม่-อุดรฯ สู่หัวหิน ในช่วงวันศุกร์เสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจไม่เคยคิดเพราะว่ามันใกล้ แต่วันนี้การไปเที่ยวทะเลไกล ๆ ค่าใช้จ่ายอาจเยอะไป ตอนนี้นโยบายคือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและดูตลาดคนไทยเป็นหลัก คนไทยชอบเที่ยวพัทยา, หัวหิน มากกว่า” นายธรรศพลฐ์กล่าว

เริ่มบินปลาย ส.ค.-ก.ย.นี้

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการเปิดเส้นทางบินที่สุวรรณภูมินั้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ทีมงานจะทำการศึกษาและวางแผนในรายละเอียดทั้งหมด โดยคาดว่าน่าจะเริ่มทำการบินได้ในช่วงปลายเดือน ส.ค. หรือช้าสุดคือต้น ก.ย.นี้ ในเบื้องต้นจะเริ่มที่เส้นทางสู่เมืองหลัก ๆ ภายในประเทศก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาว่าจะเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศต่อไปหรือไม่

“จากการพิจารณาเบื้องต้นคาดว่าเราจะใช้เครื่องบินไปทำการบินที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิประมาณ 3-5 ลำ”

นายธรรศพลฐ์กล่าวและว่า เมื่อมีโอกาสก็ต้องขยาย หากไม่ได้รับการตอบรับที่ดี บริษัทก็พร้อมที่จะถอนทัพกลับ เพราะหากฝืนอยู่ต่อก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นไปด้วย

ซ้ำเติมสายการบินแห่งชาติ

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้สายการบินไทยแอร์เอเชียใช้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นฐานการบิน ถือเป็นการอนุมัติที่ไม่คำนึงถึงสิทธิความเป็นสายการบินแห่งชาติของการบินไทย และซ้ำเติมการบินไทยซึ่งกำลังย่ำแย่อยู่อย่างมาก อีกทั้งยังถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สายการบินต่างชาติ

“เดิมทีเดียวการอนุมัติสลอตการบินนั้น คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติจะประกอบด้วยตัวแทนจาก 4 หน่วยงานคือ ทอท., สำนักงานการบินพลเรือน, วิทยุการบิน และการบินไทย ตอนนี้การบินไทยหมดสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ถูกตัดสิทธิไปโดยปริยาย การพิจารณารอบนี้จึงไม่มีตัวแทนของการบินไทยเข้าร่วม ผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้” แหล่งข่าวกล่าวและว่าการให้สายการบินไทยแอร์เอเชียมามีฐานการบินทั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองและท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ทำให้สามารถครอบคลุมเครือข่ายการบินของประเทศไทยไปได้ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการตัดแขนตัดขาสายการบินแห่งชาติไปด้วย เพราะไทยแอร์เอเชียมีเส้นทางต่างประเทศด้วย

เกมชิงฮับสุวรรณภูมิ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมการบินกล่าวว่า การที่สายการบินไทยแอร์เอเชียได้ตารางบินที่สนามบินสุวรรณภูมิถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียมีความพยายามและต้องการขอสลอตบินลงจอดที่สุวรรณภูมิมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นฐานการบินใหญ่ และที่สำคัญคือสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่เชื่อมต่อกับเส้นทางบินต่างประเทศทั้งหมด ทำให้สะดวกสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศในการเชื่อมต่อเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ แต่ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ ส่วนหนึ่งเพราะทางการบินไทยไม่เห็นด้วย

“ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินกำลังประสบปัญหา ทางไทยแอร์เอเชียจึงอาศัยจังหวะที่การบินไทยกำลังอ่อนแอและหลุดจากการมีส่วนร่วมอนุมัติสลอตการบิน เจาะเข้าไปยึดฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการเสริมจุดแข็งเตรียมพร้อมติดปีกสำหรับการเปิดประเทศครั้งใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นนี้ถือเป็นการช่วงชิงจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการบิน ซึ่งในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการ บมจ.การบินไทยก็ได้ยื่นขอการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ หลังจากที่หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือขอให้การบินไทยยังได้สิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสลอตการบินเช่นเดิม รวมทั้งขอให้สายการบินโลว์คอสต์ลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น แต่จากที่ได้มีการอนุมัติให้ไทยแอร์เอเชียลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ก็เท่ากับว่าแต้มต่อของการบินไทยหายไป

บริหารสนามบินให้ “สมดุล”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท.เห็นชอบแผนการขยายฐานการบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพิจารณาจาก 4 ประเด็นหลัก ๆ ประกอบด้วย

1.ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีความแออัดของเครื่องบินสูงมาก โดยมีจำนวนเครื่องบินที่จอด (จอดระยะยาว) มากกว่าจำนวนเครื่องที่ทำการบิน ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโล่งมาก ซึ่งส่งผลต่อการบริหารจัดการบริษัท จึงต้องบริหารการใช้ท่าอากาศยานในความดูแลให้เกิดความสมดุล (balance)

2.การบินไทยซึ่งมีสัดส่วนการใช้พื้นที่ในท่าอากาศสุวรรณภูมิ 25% ยังไม่มีความชัดเจนในแผนการบินว่าจะกลับมาบินอีกครั้งเมื่อไหร่ และต้องการใช้คาพาซิตี้มากน้อยแค่ไหน และคาดว่าก็น่าจะยังไม่ชัดเจนไปกระทั่งเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากต้องรอทำแผนตามกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง

3.แอร์เอเชียอยากขยายฐานเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งในเบื้องต้นแจ้งมาว่าจะใช้เครื่องประมาณ 6-8 ลำ ประจวบเหมาะกับไวรัสโควิดทำให้สลอตการบินสุวรรณภูมิโล่งมาก พร้อมต้อนรับทุกสายการบินเข้ามาทำการบิน

และ 4.บริษัทก็ต้องเอาตัวรอดด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ท่าอากาศยานดอนเมืองมีกำไร แต่สุวรรณภูมิขาดทุน เพราะในเชิงบัญชีถ้ามีตัวเลขขาดทุนจะถูกตีด้อยค่า และกระทบต่อการคำนวณค่าเสื่อมและการลงทุนด้วย

เซตซีโร่ “สลอตการบิน”

“ตอนนี้ทุกอย่างถูกเซตซีโร่หมด สลอตการบินเป็นสีเขียว โล่งทุกช่วงเวลา เมื่อมีสายการบินถามและพร้อมจะทำการบิน เราก็ต้องบอกว่าว่าง จากนั้นเขาต้องไปขออนุมัติที่สำนักงานการบินพลเรือน หรือ กทพ.” นายนิตินัยกล่าวและว่า สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นถือเป็นพรีเมี่ยมแอร์พอร์ต และชาร์จค่าบริหารในอัตราที่เป็นพรีเมี่ยม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสายการบินที่เป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลน์ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ หากมีความพร้อมในการใช้บริการแบบพรีเมี่ยมและท่าอากาศยานมีคาพาซิตี้รองรับ ทอท. ในฐานะผู้บริหารก็ต้องให้บริการทุกสายการบินให้อยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน

นายนิตินัยกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับไทยแอร์เอเชียนั้นเบื้องต้นได้รับข้อมูลว่าจะให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศจำนวน 24 เที่ยวบินต่อวัน โดยจะโฟกัสเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อาทิ เชียงใหม่, ภูเก็ต, กระบี่, สุราษฎร์ธานี เป็นต้น