กำหนดโควตา “ทัวร์กำลังใจ” 1 บริษัทห้ามเกิน 3 พันคน/สกัดผูกขาด

ท่องเที่ยว แพคเกต กำลังใจ สำหรับบุคลากรทางแพทย์

สารพัดปัญหาเที่ยวปันสุขแพ็กเกจ “กำลังใจ” วงในเผยคนกลางวิ่งหาบริษัททัวร์รายใหญ่เรียกกินหัวคิว กดคุณภาพโปรแกรมทัวร์ลงต่ำ ททท.ยอมถอย ! รุดหารือสภาอุตฯ ท่องเที่ยวเคาะเงื่อนไขกำหนดโควตา 1 บริษัทรับได้ไม่เกิน 3 พันคน สกัดรายใหญ่ผูกขาด ตามคำเรียกร้องของเอกชนแล้ว ฟากผู้ประกอบการยันช่องโหว่-ปัญหายิบย่อยตรึม

แหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการเที่ยวปันสุขของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้ยังถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และยังมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแพ็กเกจ “กำลังใจ” พาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), อาสาสมัครกรุงเทพฯ (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคนเที่ยวฟรีผ่านบริษัทนำเที่ยว ภายใต้กรอบงบประมาณ 2,400 ล้านบาท ระหว่าง 31 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563 นี้

กราฟิก กำลังใจ

สะดุดสารพัดปัญหา

โดยปัญหาคือ บริษัทนำเที่ยวให้ความสนใจน้อยมาก กำไรต่อหัวต่ำ แต่มีความเสี่ยงสูง จนรัฐต้องขยายเวลาลงทะเบียนเพื่อให้บริษัทนำเที่ยวเข้ามาลงทะเบียนเพิ่มเติม และที่ฮือฮาคือรายใหญ่อาศัยความได้เปรียบที่มีรถบัส, โรงแรม และร้านอาหารของตัวเองมาดัมพ์ราคาเรียกแขก บางส่วนมีคนมาขอค่าหัวคิวแลกกับการหาลูกค้ามาให้ และอีกสารพัดรูปแบบ

“ตั้แต่เร่ิมต้นโครงการเราเสนอให้รัฐกำหนดโควตาว่าบริษัทหนึ่งไม่ควรรับลูกค้าได้เกินกี่คน เพื่อเป็นการกระจายลูกค้าให้ได้ทั่วถึงมากที่สุด แต่รัฐก็ไม่รับลูก แต่ล่าสุด ททท.จึงได้หารือร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ และได้กำหนดโควตาไว้ที่ 3,000 คนต่อบริษัท ซึ่งน่าจะแก้ไขปัญหาผูกขาดได้ระดับหนึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว

โควตา 3 พันคนต่อบริษัท

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับการกระจุกตัวของการเดินทางของกลุ่ม อสม. อสส. และ รพ.สต. ในโครงการกำลังใจที่มีจำนวนบริษัทนำเที่ยวลงทะเบียนกว่า 1,080 รายว่าอาจจะเกิดการผูกขาดจากบริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่ และรายเล็กจะสูญเสียโอกาสในการรับสิทธิ ททท.จึงขอให้ภาคเอกชนไปหาข้อสรุปร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ หรือ สทท. ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ขอให้รัฐกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการกำลังใจ 1 บริษัทรับได้ไม่เกิน 3,000 คน โดย ททท.จะเร่งใช้เงื่อนไขนี้ให้เร็วที่สุด และกำหนดระบบให้แจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อบริษัทนำเที่ยวมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการใกล้ครบ

หากในอนาคตมีบริษัทนำเที่ยวที่มีจำนวน อสม. ต้องการเข้าร่วมเกินโควตา 3,000 คนก็อาจต้องนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเป็นรายบริษัท ซึ่งบริษัทที่จะได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อขอโควตาเพิ่มเติมจะต้องไม่มีปัญหาการร้องเรียน เพื่อให้การเดินทางเป็นการท่องเที่ยวที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

Advertisment

พร้อมใช้เงื่อนไขใหม่ทันที

ขณะที่นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการผูกขาดของบริษัทนำเที่ยวขนาดใหญ่และการเรียกรับผลประโยชน์ระหว่างบริษัทนำเที่ยวทุนจีนกับสมาชิก อสม. อสส. และ รพ.สต. ทำให้ สทท.หารือร่วมกับตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวในเครือข่ายเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเดินทางในโครงการกำลังใจให้หนึ่งบริษัทรับ อสม.ได้ไม่เกิน 3,000 คน

โดยเงื่อนไขมีผลบังคับใช้ทันที และบริษัทนำเที่ยวที่ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าในโครงการกำลังใจเกินกว่า 3,000 คนจะต้องขอให้สมาชิก อสม.ที่จะร่วมเดินทางที่เกินโควตาย้ายไปบริษัทอื่น ด้านการจัดแบ่งโควตา อสม.ที่เหลือขอเวลาในการหารือร่วมกับตัวแทนแต่ละสมาคม และจะมีเงื่อนไขอื่น ๆ ตามมา และขอพิจารณาผลลัพธ์และรับฟังเสียงของผู้ประกอบการต่ออีกสักระยะหนึ่ง

Advertisment

นายหน้าโผล่เรียก “หัวคิว”

แหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ายืนยันว่าโครงการกำลังใจมีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง และมีการขอแบ่งผลประโยชน์อย่างชัดเจนเป็นตัวเงินระหว่างบริษัทนำเที่ยว นายหน้า และสมาชิก อสม. จากงบฯ 2,000 บาทต่อคน จะแบ่งให้บริษัทนำเที่ยว 500 บาท นายหน้า 1,000 บาท และสมาชิก อสม. 500 บาท ในลักษณะของการขอนำชื่อ อสม.มาใช้เพื่อรับสิทธิเดินทางและเบิกเงินจากรัฐ โดยไม่มีการเดินทางจริง

“บริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่ล้วนต้องการจะดูดีมานด์ก่อนทำโปรแกรมที่เหมาะสม จึงได้ติดต่อไปสอบถามความต้องการของสมาชิก อสม. แต่หลังจากติดต่อไปมีสมาชิก อสม.หลายรายสอบถามผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นจำนวนเงิน เนื่องจากสมาชิก อสม.หลายกลุ่มได้รับการติดต่อลักษณะนี้หลายครั้ง และแม้จะมีกลุ่ม อสม.ที่ยืนยันว่าไม่รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ แต่การเรียกรับผลประโยชน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทนำเที่ยวหลายแห่งถอดใจจากการเข้าร่วมโครงการกำลังใจ”

ยันช่องโหว่เยอะปิดไม่หมด

ส่วนการกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทนำเที่ยวแต่ละแห่งรับสมาชิก อสม.ได้ไม่เกิน 3,000 คน เพื่อลดการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่นั้น คาดว่าจะทำให้การแบ่งสรรผลประโยชน์มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ลดจำนวนการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตในโครงการลงไปได้เกินครึ่ง

และแม้ว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขไม่เกิน 3,000 คนต่อบริษัท แต่ด้วยแต่ละบริษัทนำเที่ยวมีสิทธิที่จะเสนอรายการนำเที่ยวได้เพียง 3 โปรแกรมเท่านั้น ทำให้มีข้อจำกัด ดังนั้น อาจจะต้องมีการพิจารณาการเปิดให้ผู้ประกอบการเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับสมาชิก อสม.ที่เหลือจากการจำกัดโควตา

“โครงการนี้มีช่องโหว่ค่อนข้างมาก และยากจะปิดได้หมด เนื่องจากโครงการไม่ได้มีเป้าประสงค์หลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อกลุ่ม อสม.ที่เป็นฐานเสียงของรัฐ” แหล่งข่าวกล่าว