อพท.เร่งวัด’รายได้ชุมชน’ เปิดตัวเครื่องมือ “เราได้…เรากระจาย” ดึงเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น

แฟ้มภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

อพท.เปิดตัวเครื่องมือ “เราได้…เรากระจาย” ปรอทวัดรายได้ชุมชน ช่วยอุดรอยรั่ว ให้เม็ดเงินกลับมาหมุนเวียนในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อตอกย้ำท่องเที่ยวโดยชุมชนช่วยเพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ นำร่อง 14 ชุมชนต้นแบบ ก่อนขยายผลไปในชุมชนใน 8 คลัสเตอร์ ใน 3 ปี

พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้พัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่เรียกว่า “เราได้…เรากระจาย” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์แบบง่าย ๆ ให้ชุมชนสามารถเก็บข้อมูลรายได้จากการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง

อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่า รายได้ที่เข้ามาในชุมชนจากการเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยวนั้น ได้ถูกกระจายไปสร้างประโยชน์ในเรื่องใดในชุมชนบ้าง หรือมีส่วนใดที่รั่วออกไปนอกชุมชน ซึ่งเครื่องมือนี้ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะเป็นประโยชน์ถือเป็นนวัตกรรมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง

เครื่องมือ “เราได้…เรากระจาย” จะอยู่ในรูปแบบสอบถาม ให้ชุมชนได้กรอกข้อมูลตามความเป็นจริง เป็นทั้งข้อมูลของชุมชนเอง กับข้อมูลที่ได้รับจากการสอบถามจากนักท่องเที่ยว ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าช็อปปิ้ง ค่ากิจกรรม ซึ่งในส่วนของค่าอาหาร ที่พัก และกิจกรรม อาจลงรายละเอียดถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง เช่น ค่าวัตถุดิบประกอบอาหาร ซึ่งมาจากที่ใด ราคาเท่าใด ที่พัก มีการจ้างแรงงานเป็นคนในชุมชน หรือนอกชุมชน เป็นต้น”

อพท.เชื่อว่า เครื่องมือนี้จะช่วยชุมชนรู้ถึงต้นทุนที่แท้จริง และรู้ถึงรูรั่ว ที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ใหม่ ให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น อพท.ยังสอนให้ชุมชนใช้ภาคีเครือข่ายจาก 6 พื้นที่พิเศษให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การอุดหนุนสั่งซื้อวัตถุดิบระหว่างกัน เป็นต้น

ปัจจุบัน อพท.เริ่มดำเนินการใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นปีแรก นำร่องใน 14 ชุมชนต้นแบบ ใน 6 พื้นที่พิเศษ และจะนำเครื่องมือนี้กระจายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ทั้ง 8 เขต ครอบคลุม 37 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใน 3 ปีนับจากนี้

“ตามหลักการทำงานของ อพท. เรามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นเราจึงมีรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เรียกว่า การท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือ DASTA Community Benefitting Through Tourism-DASTA CBTT Model ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาให้คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเล็งเห็นถึงโอกาสในการเชื่อมโยงทรัพยากรท้องถิ่นกับการท่องเที่ยว”

ผู้อำนวยการ อพท.กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักคิดที่ อพท.ทำมาตลอดและเชื่อมั่น คือ การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวต้องได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว หากทำให้สำเร็จสมบูรณ์เชื่อมั่นได้เลยว่า ท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม