สภาท่องเที่ยวอุดรฯ จ่อปลุกเที่ยวอีสานรับรถไฟจีน-ลาว

ธนกร วีรชาติยานุกูล
ธนกร วีรชาติยานุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สมัยที่ 2 อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้ายูดีทาวน์ และโรงแรม MOCO อุดรธานี

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยเมื่อ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับเส้นทางรถไฟสายใหม่ “จีน-ลาว” ที่สร้างโดยจีน มูลค่ากว่า 6,000 ล้านดอลลาร์

จากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมาสิบสองปันนา โม่หาน มาเชื่อมต่อ สปป.ลาว ที่เมืองบ่อเต็น ไล่ลงมาสุดปลายทางที่นครเวียงจันทน์ รวมระยะทาง 414 กิโลเมตร

ความท้าทายทาง เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

“ธนกร วีรชาติยานุกูล” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี สมัยที่ 2 อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้ายูดีทาวน์ และโรงแรม MOCO อุดรธานี ให้ข้อมูลว่า นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อยู่ห่างจากจังหวัดหนองคาย เพียงแค่ 24 กิโลเมตร

หากภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของไทยเตรียมพร้อมรับมือให้ดี โครงการรถไฟจีน-ลาวนี้จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ของระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยด้วย

เพราะรถไฟจีน-ลาวจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและระยะเวลาที่เร็วขึ้น ซึ่งประเมินกันว่าจากนครคุนหมิง (ประเทศจีน) มาถึงจังหวัดหนองคาย ใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากเดิมที่เดินทางด้วยรถใช้เวลาถึง 2 วัน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้นก็จะเป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนและลาวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทยสะดวกและมีต้นทุนการเดินทางที่ถูกลงด้วยเช่นกัน

ลุ้นนโยบายเปิดประเทศ

“ธนกร” บอกด้วยว่า ปัจจุบันบรรยากาศของภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีทยอยดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนในปริมาณที่มากระดับหนึ่งแล้ว ทำให้มีการใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้นยังคงรอความหวังจากนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะไม่มีปัญหาเรื่องการลักลอบเข้ามาของแรงงาน แต่ฝั่ง สปป.ลาวเองก็เข้มงวดสำหรับคนที่จะออกมาเช่นกัน

ชูอุดรฯฮับท่องเที่ยวอีสาน

แต่ประเด็นที่น่าจับตาคือ นอกเหนือจากเดสติเนชั่นท่องเที่ยวหลักอย่างเชียงใหม่ และภูเก็ตแล้ว นักลงทุนจีนเริ่มสนใจตลาดการท่องเที่ยวในภาคอีสานเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2562 (ก่อนโควิด) มีกลุ่มเอเย่นต์ทัวร์ตลาดจีน ซึ่งทำตลาดอยู่ที่เชียงใหม่ และภูเก็ต เข้ามาศึกษาตลาดและเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวระหว่าง 4 เมืองของจีน คือ เซี่ยงไฮ้ กวางเจา ปักกิ่ง และเฉิงตู กับจังหวัดในภาคอีสาน โดยใช้อุดรธานีเป็นศูนย์กลาง และนครเวียงจันทน์ (สปป.ลาว)

“แผนเดิมที่วางไว้ในช่วงก่อนโควิดรูตเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจะมาจาก 4 เมืองของจีน เดินทางเข้าโดยสายการบินชาร์เตอร์ไฟลต์มาอุดรธานี 2 คืน จากนั้นจะไปต่อที่ สปป.ลาว อีก 2 คืน ซึ่งตอนนี้เอเย่นต์กลุ่มนี้มีแผนจะนำผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการในภาคอีสานหลายจังหวัดไปหารือแผนการทำงานร่วมกับทางผู้ใหญ่ในฝั่งเมืองจีน เพื่อให้ข้อมูลว่าพื้นที่ในหลายจังหวัดภาคอีสานของไทยมีความพร้อมสำหรับรองรับตลาดจีน”

ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ดูแลด้านการท่องเที่ยว อาทิ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ ในหลายพื้นที่ต่างก็มีความพร้อมและเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้ดีขึ้น และหาสินค้าใหม่เพื่อที่จะรองรับนักท่องเที่ยว

เตรียมฟื้นรูตเชื่อม “จีน-ไทย-ลาว”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะสะดุดไปเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ถึงขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวดังกล่าวยังคงส่งสัญญาณว่ายังสนใจร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง 4 เมืองของจีน กับจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน และ สปป.ลาว ตามแผนเดิมที่เคยทำการศึกษาข้อมูลไปแล้วเหมือนเดิม

ทั้งนี้ หากต้นปี 2565 รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ รวมถึงด่านชายแดน ทางสภาท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานีมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการเจรจากับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าต่อโครงการเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 ประเทศ คือ จีน ไทย และ สปป.ลาว ตามแผนเดิมอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่ในหลาย ๆ จังหวัดภาคอีสานที่เป็นเขตติดต่อกับอุดรธานี อาทิ หนองคาย นครพนม สกลนคร เป็นต้น โดยใช้อุดรธานีเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้เดินหน้าได้ตามแผนเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคอีสานต่อไป

“ตอนนี้บริษัททัวร์หลายแห่งในภาคอีสานได้เริ่มขายแพ็กเกจนำเที่ยวโดยรถไฟฟ้าจีน-ลาวกันแล้ว และเชื่อว่าเมื่อประเทศเปิด ตลาดเราก็จะเปิดด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคนไทยเดินทางไปเที่ยว สปป.ลาว และจีน ก็เชื่อมั่นว่าด้วยจำนวนประชากรของจีนที่มีมหาศาลนั้นจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับอานิสงส์อย่างมาก”

เล็งลงทุนแหล่งท่องเที่ยวใหม่

ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงยังได้หารือเพื่อเตรียมพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวใหม่ รวมถึงศึกษาการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การคมนาคมขนส่ง การรักษาพยาบาล ความปลอดภัย ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้พูดภาษาอังกฤษและภาษาจีนได้

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในภาคอีสาน และเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตอีกจำนวนหนึ่งด้วย

อาทิ โครงการที่พักระหว่างทางสำหรับนักท่องเที่ยว หรือ rest area สำหรับรองรับและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปของประเทศไทยในพื้นที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวหลัก อาทิ ทะเลบัวแดง, คำชะโนด เป็นต้น รวมถึงโครงการลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อพัฒนาจุดขายใหม่ ๆ ของจังหวัดในภาคอีสาน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ กลับมาได้มากกว่าปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวรวมกว่า 4 ล้านคน

ลงทุน 500 ล้านผุดโรงแรมหรู

“ธนกร” ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า สำหรับบริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด หรือกลุ่มศูนย์การค้า “ยูดีทาวน์” ได้ลงทุนอีก 500 ล้านบาท ลงทุนโรงแรมภายใต้แบรนด์ Hotel MOCO อุดรธานี พรีเมี่ยม บูทีค ดีไซน์ โฮเทล บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ จำนวน 68 ห้อง บริเวณเดียวกับศูนย์การค้ายูดีทาวน์ และศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ ฮอลล์ เพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางเมืองอุดรธานี และตอบโจทย์นักเดินทางทั้งกลุ่มเพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยว

โดยโรงแรมแห่งนี้จะเป็นการขยายและเปิดตลาดใหม่ และมาช่วยเติมเต็มให้ทั้งโครงการมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นโปรเจ็กต์ “มิกซ์ยูส” ที่สมบูรณ์ และมีความพร้อมที่สุดของจังหวัดอุดรธานี

“เราเปิดตัวโรงแรมตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามียอดการจองห้องพักเข้ามาอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม และต้นปี 2565 ในระดับที่น่าพอใจ”

หากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศที่ชัดเจนในต้นปี 2565 เชื่อว่านักท่องเที่ยวจากฝั่ง สปป.ลาว จะกลับเข้ามา และหากแผนการฟื้นตลาดนักท่องเที่ยวจาก 4 เมืองใหญ่ของจีนสามารถเดินหน้าได้ก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของอุดรธานี และอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานกลับมาคึกคักได้มากกว่าเดิมแน่นอน