2565 ปีพลิกโฉมเที่ยวไทย ก้าวสู่ “ท่องเที่ยวคุณภาพ-ยั่งยืน”

ท่องเที่ยว

บอบช้ำครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในปี 2564

และต้องยอมรับว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2565 นี้

จับตา “โอไมครอน” ตัวแปรหลัก

โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้คาดการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่า ในกรณีประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP (Universal Prevention) น้อย ไม่มีการยกระดับการป้องกันเมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่มคน สถานประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการ VUCA (Vaccine Universal Prevention Covid Free Setting ATK) ได้ และการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 2-3 ล้านโดส/สัปดาห์ คาดว่าจะติดเชื้อสูงสุดถึง 30,000 คนต่อวัน และเสียชีวิตอยู่ที่ราว 170-180 คนต่อวัน

หรือในกรณีมีมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง คือไม่ได้ยกระดับการป้องกันขึ้น แต่ประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP ดี และสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้ การฉีดวัคซีนเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์ จะมีการติดเชื้อ 15,000-16,000 คนต่อวัน และเสียชีวิต 100 คนต่อวัน

และกรณีดีที่สุด มาตรการคุมเข้มสูงสุด ประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP เต็มกำลัง ลดการรวมกิจกรรมคนหมู่มาก สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้ ผับบาร์เปิดแต่ควบคุมได้ดี และการปูพรมวัคซีนเข็ม 1-4 ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม จะติดเชื้อ 10,000 คนต่อวัน และเสียชีวิต 50-60 คนต่อวัน

หวั่นประเทศต้นทางล็อกดาวน์

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยอมรับว่า สถานการณ์ของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2565 นี้ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” แต่ก็เชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการที่ดีรองรับ

ประเด็นปัญหาสำคัญในเวลานี้คือ ประเทศต้นทางหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป อเมริกา ที่ทยอยล็อกดาวน์ ปิดการเดินทาง หรือกักตัวเมื่อต้องกลับเข้าประเทศในจำนวนวันที่มากขึ้นมากกว่า

“พิพัฒน์” ยังระบุด้วยว่า ทางกระทรวงคาดการณ์ว่านับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไปประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยตามแผนการเปิดประเทศระยะ 3 (ตั้งแต่มกราคม 2565 เป็นต้นไป) รัฐบาลมีแผนเปิดจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมา ลาว กัมพูชา) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

คาดปี’65 นักท่องเที่ยว 8-15 ล้านคน

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 8-15 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางจำนวน 160 ล้านคนครั้ง มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.3 -1.8 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวนี้อยู่บนสมมุติฐานว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน หากสามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในไตรมาส 1 ปี 2565

และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงเป้า 15 ล้านคน หากสามารถเปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาเดินทางเข้าประเทศไทยในครึ่งหลังของปี 2565

หรือหากไม่สามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ปี 2565 ประเทศไทยน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ประมาณ 6-7 ล้านคน

เตรียมพลิกโฉมเที่ยวไทย

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ททท.เตรียมแผนสำหรับพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย โดยวางไทม์ไลน์ในการปรับยุทธศาสตร์ไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หรือ high-value & sustainable tourism ภายใต้แผน 3R

ประกอบด้วย 1.Reopen (Q3 ปี 2564) ซึ่งเป็นช่วงทดลองเปิดภายใต้นโยบาย Phuket Sandbox 2.Recover (Q4-ปี 2565) เป็นช่วงการเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 และ 3.Resilient (ปี 2566-2570) เป็นช่วงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและความยั่งยืน

โดยทิศทางการขับเคลื่อนสำหรับปี 2565 นี้ “ยุทธศักดิ์” ระบุว่า ททท.จะคงความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเร่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวเร็วและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นเซ็กเตอร์สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยและก้าวสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

โดยมีทิศทางการส่งเสริมดังนี้ สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น ททท.จะมุ่งส่งเสริมกับกลุ่มเป้าหมายคุณภาพ เน้นทำการตลาดผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ และรักษาความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ส่วนตลาดในประเทศ ททท.จะมุ่งส่งเสริมและสนับสนุน “ไทยเที่ยวไทย” ภายใต้แนวคิด BCG และ Local Economy Development Model ควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรมท่องเที่ยว โดยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในลักษณะอัพสกิลและรีสกิล

เน้น “รายได้” มากกว่าจำนวน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสำหรับปี 2565 รวมที่ 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 6.3 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน และจากตลาดในประเทศ 4.9 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย 120 ล้านคน-ครั้ง

ทั้งนี้ จะเน้นเป้าหมายด้านรายได้เป็นหลัก โดยมุ่งทำการตลาดเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถรักษาสถานภาพในความเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้

โดยจะใช้ตัวชี้วัดเป้าหมายใน 3 ด้านหลักประกอบด้วย

1.อัตราการเข้าพักแรม (OR : Occupancy Rate) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนการเดินทาง โดยต้องมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศทั้งปีไม่ต่ำกว่า 50%

2.ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน (SP : Spending per Trip) โดยตั้งเป้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 62,580 บาท และนักท่องเที่ยวคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 4,100 บาท

และ 3.อัตราการบรรทุกผู้โดยสารของสายการบิน (CF : Cabin Factor) โดยอัตราการบรรทุกผู้โดยสารสำหรับสายการบินต่างชาติเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50% และอัตราการบรรทุกผู้โดยสารสำหรับสายการบินในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80%

โดยแบ่งเป็นเซ็กเมนต์และทำการตลาดให้ตรงกับเซ็กเมนต์ของลูกค้า ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมทั้งเน้นการตลาดในรูปแบบ “การเล่าเรื่อง” หรือ Story Telling มากกว่าการขายตัวแหล่งท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างกันให้กับนักท่องเที่ยว

รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายและเพิ่มมูลค่า อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสำราญ ฯลฯ รวมถึงการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค

ชูเทคโนโลยีรับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโปรดักต์และบริการที่จะขายนั้น ททท.วางตัวย่อไว้คือ NFX X (Experience Thai Tourism) โดยจะเน้นใน 3 รายการ ได้แก่

1.Nature to keep การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นการปกป้องและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

2. food to explore การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

และ 3. Thainess to discover การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

โดยทั้งหมดจะเน้นทำการตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ Amazing New Chapters ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ จำนวน 26 คน เรียงลำดับตามอักษร A-Z ทำคอนเทนต์เผยแพร่ในแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ฯลฯ ซึ่งเตรียมเปิดตัวในงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก “ไอทีบี เบอร์ลิน” ประเทศเยอรมนี

นอกจากนี้ยังมีแผนเดินหน้าสู่ Next Generation of Thai Tourism ที่จะมุ่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืน โดยเน้นใน 3 เรื่อง คือ

1.Digital Industry สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

2.Digital Investment ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

และ 3.Digital Innovation ร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็น Crypto-positive Industry และใช้ประโยชน์จากโทเคน อีโคโนมี

ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ททท.จะให้น้ำหนักกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือ Ecosystem ใหม่ให้อยู่บน 2 ขาหลักคือ การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตที่คาดว่าจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

คนรุ่นใหม่พร้อมเดินทาง เทรนด์เที่ยวแบบ “หรูหรา” พุ่ง

นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวของไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากไวรัสโควิด ปีนี้มีสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่มาส่งท้ายปี 2564 และลากยาวมาถึงปี 2565

“ทริปดอทคอม กรุ๊ป” ได้จัดทำข้อมูลแนวโน้มการท่องเที่ยวและแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2564 และอนาคต พบว่า นักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มมีความระมัดระวังที่ต่างกัน โดยคนรุ่นใหม่ ได้แก่ มิลเลนเนียล (Millennials) และ Gen Z แสดงความตั้งใจที่จะเดินทางในระยะสั้นมาก

โดยร้อยละ 73 ของคนรุ่น Gen X มิลเลนเนียล (Gen Y) และคนรุ่น Gen Z วางแผนที่จะเดินทางครั้งต่อไปทันที หรือภายใน 1 ถึง 3 เดือน หลังจากการยกเลิกข้อจำกัด เทียบกับร้อยละ 63 ของกลุ่มคนรุ่นบูมเมอร์ส (Boomers)

อย่างไรก็ตาม รายได้ก็มีอิทธิพลต่อความปรารถนาที่จะเดินทาง โดยกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ คือผู้ที่กระตือรือร้นที่จะเดินทางมากที่สุด โดยสื่อสังคมออนไลน์และการตลาดดิจิทัลเป็นเครื่องมือทางการตลาดและการขายที่มีอิทธิพลต่อนักเดินทางและจะคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะยาว

นอกจากนี้ยังพบว่า การท่องเที่ยวแบบความหรูหรามีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเฉลี่ยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นสำหรับการเดินทาง 2-3 ครั้งแรก หลังการล็อกดาวน์ โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกใช้จ่ายโดยตรงไปกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มดั้งเดิมในด้านความหรูหรา

โดยร้อยละ 70 ของนักเดินทางเพื่อการพักผ่อนในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น และสเปน คาดหวังและวางแผนที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อการเดินทางในปี 2565 มากกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

และร้อยละ 76 เลือกที่จะใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับการเดินทางที่มาพร้อมกับมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่แน่นอน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดการเดินทางท่องเที่ยวแบบหรูหราจะมีมูลค่าถึง 1.12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 945.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562

โดยพบว่าการเดินทางท่องเที่ยวแบบหรูหรานี้ ยังคงมีงบประมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะทำการจองกับที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่านักเดินทางยังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาเกิดจากที่ภาครัฐและเอกชนมีมาตรการที่ชัดเจนตลอดการเดินทาง

ที่สำคัญคือ ความปรารถนาของนักเดินทางในการสำรวจโลกยังคงไม่ลดน้อยลง ทำให้มีความหวังสำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว และความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในการสร้างความแตกต่างที่มีความหมายต่อชีวิต และการดำรงชีวิตของผู้คน

ขณะที่การฟื้นตัวด้านการเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคพร้อมกับภาครัฐและเอกชนยังคงต้องรับผิดชอบในการสร้างโลกใบใหม่ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน