วรรณสิงห์ แนะ 4 ไอเดีย ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ออกไปเที่ยวก็รักษ์โลกได้

ภาพ : pixabay

“วรรณสิงห์” แนะวิธีท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นบินตรง-เลือกที่พักรักษ์โลก ปรับใช้แนวคิดสีเขียวในทุกย่างก้าว เน้นกระจายเงินสู่ท้องถิ่น และไม่บริโภคเกินความจำเป็น ผลโพลเผยชาวไทย 94% มองว่า “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” สำคัญมาก

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักทำสารคดี นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม พิธีกร เปิดเผยว่า เคล็ดลับสำหรับการเดินทางแบบยั่งยืน สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก ไปจนถึงวิธีปฏิบัติตัวระหว่างทางและจบทริปอย่างสมบูรณ์ โดยไอเดียการเดินทางแบบยั่งยืน มีดังต่อไปนี้

1.เลือกไฟลต์เที่ยวบินแบบบินตรง (Direct Flight)

แนะนำให้เลือกเที่ยวบินที่บินตรง (direct flight) ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเที่ยวบินที่ต้องต่อเครื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด และปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าจะผ่านเอเจนซีหรือผู้ให้บริการด้านการจองการเดินทางแบบออนไลน์ (OTAs) ยังมีการแสดงข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย

2.เลือกที่พักที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเราสามารถเลือกจองโรงแรมที่พักที่มีระเบียบมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อมีส่วนร่วมในการกระตุ้นและช่วยเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น

3.ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมือนในชีวิตประจำวัน

ในระหว่างการเดินทาง เราควรคำนึงถึงการดูแลรักษาสถานที่ท่องเที่ยวแบบพื้นฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะ เช่น การดำน้ำก็ไม่ควรไปจับสัตว์ทะเลหรือปะการัง หรือเลิกทิ้งก้นบุหรี่ไว้ตามชายหาด และเราสามารถช่วยโลกได้มากยิ่งขึ้น จากการปรับใช้พฤติกรรมรักษ์โลกที่เราทำในทุกวัน นำไปปรับใช้เมื่อครั้งเราออกเดินทางท่องเที่ยว เช่น ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น

สอดคล้องกับรายงานล่าสุดของ Booking.com ที่พบว่าผู้เดินทางชาวไทยถึง 87% ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น จนถึงขั้นเลี่ยงจุดหมายและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นไปในตัว

4.กระจายรายได้สู่ชุมชนและลดการบริโภคเกินความต้องการ

นายวรรณสิงห์ กล่าวว่า เทรนด์การเดินทางต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวเพื่อเสพความอร่อยจากร้านอาหารอันขึ้นชื่อ ความสบาย หรือความรื่นรมย์ต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ไปเพื่อเรียนรู้และซึมซับวิถีชีวิตของผู้คน ธรรมชาติ และเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งจะทำให้เราเปิดประตูต้อนรับโลกนี้เข้ามาหาตัวเองอย่างอัตโนมัติ

นอกจากเราจะได้เรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เราและคนรอบข้างหันมารักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราลดการบริโภคที่เกินพอดี มีความต้องการที่น้อยลง เพราะการซึมซับสิ่งที่เราได้ไปสัมผัสจากการท่องเที่ยว หรืออยู่กับธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นที่ไปเยือน ถือเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว

ไอเดียดังกล่าวเป็นไปในทิศทางกันกับผลสำรวจของ Booking.com ที่เผยว่าผู้เดินทางชาวไทยถึง 85% ต้องการความมั่นใจว่าผลการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะถูกกระจายไปสู่คนทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นด้วยการช่วยในส่วนที่ตนเองสามารถทำได้ เช่นการเดินทางไปยังจุดหมายและชุมชนที่มีผู้คนไปเยือนน้อย จนเกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวเมืองรอง

ด้วยเหตุนี้ Booking.com ได้ริเริ่มทำสัญลักษณ์ “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” (Travel Sustainable property badge) กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่แค่สำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม

รายงานด้านการเดินทางอย่างยั่งยืนล่าสุดของ Booking.com ยังเปิดเผยว่า 94% ของผู้เดินทางชาวไทยมองว่า “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” สำคัญมาก และ 78% ระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ความคาดหวังของนักเดินทางยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่คาดหวังประสบการณ์ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจเท่านั้น แต่ยังคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่พวกเขาในฐานะนักเดินทางสามารถช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมชุมชน ในระหว่างทริปท่องเที่ยวของพวกเขาได้