ดีเซล B5 คืออะไร ต่างจาก B7 อย่างไร รถแบบไหนเติมได้บ้าง

ภาพจาก Pixabay

รู้จักน้ำมันดีเซล B5 แตกต่างอย่างไรกับ B7 ก่อนการประกาศปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล B100 เป็น B5 ตั้งแต่ 5 ก.พ. ถึง 31 มี.ค.

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปัจจุบันมี B7 เกรดเดียว ให้เป็น B5 มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อรักษาระดับความผันผวนของราคาน้ำมันในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร

ก่อนหน้านี้ กบง. มีมติปรับสูตรดีเซลจาก B7 B10 และ B20 เหลือเพียง B7 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565 แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมาก จึงต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนลิตรละ 3.09 บาท ดังนั้น กบง.จึงพิจารณามาตรการใหม่เพื่อลดต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลอย่างเร่งด่วน

ขณะที่ต้นทุนน้ำมัน B100 ยังอยู่ระดับสูง ส่งผลให้ราคาน้ำมัน B100 ที่ผสมในน้ำมัน B7 พุ่งไปอยู่ที่ 2-3 บาทต่อลิตร

โดยในวันนี้ (4 ก.พ.) จะมีการแจ้งต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำแห่งชาติ (กนป.) เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนประกาศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการลดต้นทุนของน้ำมันดีเซล “ประชาชาติธุรกิจ” เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างน้ำมันดีเซล B5 และ B7 ให้เข้าใจง่าย ดังนี้

ไบโอดีเซลคืออะไร

แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักน้ำมันดีเซลทั้ง 2 สูตร จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าไบโอดีเซลคืออะไร ?

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ใช้งานได้เหมือนน้ำมันดีเซลธรรมดา แต่ผลิตจากวัสดุทางชีวภาพ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bio หรือ “ไบโอ” จึงได้ชื่อว่า “ไบโอดีเซล” ซึ่งทำได้โดยนำน้ำมันพืชและน้ำมันประกอบอาหารที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการทางเคมีกลายเป็นไบโอดีเซล

ประเทศไทยมีพืชน้ำมันที่สามารถใช้ผลิตไบโอดีเซลได้หลากหลายมากมาย ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ ถั่วลิงสง งา ทานตะวัน ละหุ่ง ถั่วเหลือง และมะพร้าว

โดยเราสามารถนำไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซลได้ตามสัดส่วนที่ต้องการ กรณีที่ใช้ไบโอดีเซลล้วน ๆ เรียกว่า “ไบโอดีเซล 100%” หรือ B100 ซึ่งเหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ หรือพวกเครื่องจักกลการเกษตร

ดีเซล B5 คืออะไร

แต่หากต้องการหมุนเร็วหรือใช้ในรถยนต์ก็จะผสมในสัดส่วนไบโอดีเซล 5 ส่วน ต่อน้ำมันดีเซล 95 ส่วน ได้เป็นไบโอดีเซลสูตร B5 ซึ่งเป็นสูตรที่ได้ทดลองใช้ในรถยนต์แล้วว่าสามารถใช้แทนน้ำมันดีเซลได้เป็นอย่างดี ไม่มีปัญหา ตามข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

มีคำแนะนำจากกูรูรถยนต์ว่า ดีเซล B5 สามารถใช้ได้กับทุกเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่จำเป็นต้องปรับแต่งเครื่องยนต์ใด ๆ แต่หากไม่มั่นใจสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการแต่ละยี่ห้อได้

ส่วนกรณีที่หลายคนกังวลว่าดีเซล B5 จะสร้างปัญหาให้กับรถกลุ่มหัวฉีดไฟฟ้า เนื่องจากส่วนผสมที่เข้มข้นขึ้น แนะนำให้หมั่นทำความสะอาดหัวฉีดเป็นประจำจะช่วยชะล้างคราบสกปรกได้

สาเหตุที่เลิกใช้ดีเซล B5 ในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากกรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศปรับลดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลจากน้ำมัน B5 เป็นน้ำมัน B3 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปาล์มน้ำมันที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล เพราะช่วงนั้นประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง

ประกาศฉบับดังกล่าว ได้มีการปรับลดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลขั้นต่ำ จากไม่ต่ำกว่า 5% เป็นไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งการปรับสูตรเพื่อลดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลลง จะทำให้จำนวนการรับซื้อปาล์มจากเกษตกรลดลง ส่งผลต่อรายได้ผู้ปลูกปาล์มในประเทศ

ดีเซลสูตร B7 คืออะไร

ส่วนไบโอดีเซลสูตร B7 นั้น มีสัดส่วนของไบโอดีเซลผสมอยู่ในน้ำมันดีเซลที่ 6.6 – 7.0% หมายความว่ามีปริมาณน้ำมันดีเซลมากกว่าไบโอดีเซล เหมาะสำหรับรถเก่าและรถยุโรป

สรุปให้เข้าใจง่ายคือ ดีเซล B5 คือการผสมไบโอดีเซล 5% และ B7 คือการผสมไบโอดีเซล 7% ที่เหลือเป็นน้ำมันดีเซล ดังนั้น รถเก่าจึงเหมาะที่ใช้น้ำมันที่มีการผสมไบโอดีเซลในสัดส่วนที่น้อย