โรงแรมดิ้น “ตัดขาย” ทรัพย์สิน ขาใหญ่ “AWC-สิงห์” รอช็อป

ธุรกิจโรงแรมรุกปรับโครงสร้างสินทรัพย์ จัดพอร์ตสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” ทยอยขาย “ไอบิส” เมืองท่องเที่ยว หันลงทุนแบรนด์ “ฮ็อป อินน์” จับตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ กลุ่ม AWC ลูกสาวเจ้าสัวตั้งองค์กรร่วมทุน 1.65 หมื่นล้านลงทุนโรงแรมหลังปิดดีลไป 3 แห่ง ดุสิตธานีตัดขาย “ดุสิตปริ๊นเซส-ดุสิตดีทู เชียงใหม่” ลดภาระหนี้ “สิงห์ เอสเตท” ประกาศรับซื้อโรงแรมรีสอร์ตระดับ 3-5 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวและหัวเมืองหลัก

ซื้อขายเปลี่ยนมือ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก และมีข่าวโรงแรมขนาดใหญ่และขนาดเล็กประกาศขายโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนต่างประเทศ หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และยังคงมีการลงทุนเพิ่มเติมต่อเนื่อง

ขณะที่พบว่ามีการเปิดดีลซื้อ-ขายโรงแรมเป็นระยะ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักในภาคใต้ของประเทศ อาทิ ภูเก็ต สมุย กระบี่ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่สามารถปิดดีลขายได้ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพและได้มูลค่าที่ดี เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ของโรงแรมคือที่ดินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“การตัดสินใจซื้อ-ขายโรงแรมมีเหตุผลหลายปัจจัย บางส่วนเหนื่อย ไม่อยากบริหารแล้ว บางกลุ่มไม่มีหนี้ไม่เดือดร้อน สถานการณ์โรคระบาดยังทำธุรกิจไม่ได้ก็ปิดโรงแรมชั่วคราวต่อไป บางส่วนขายเพราะได้ราคาที่ดี เป็นต้น” นางมาริสากล่าว

“เอราวัณ” โฟกัสโรงแรมบัดเจต

นายเพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารโครงสร้างทางการเงิน โดยเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้านสถานะทางการเงิน ให้มีอัตราส่วนทางการเงินที่เหมาะสมต่อการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์การลงทุนระยะยาวที่หันมาโฟกัสการลงทุนในกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด (บัดเจตโฮเทล) ภายใต้แบรนด์ “ฮ็อป อินน์” ทั้งในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยโรงแรมภายใต้แบรนด์ฮ็อป อินน์ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการปรับตัวในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และช่วยให้ผลการดำเนินงานและกำไรของบริษัทเติบโตในระยะยาว โดยเชื่อว่าการเดินทางภายในประเทศจะฟื้นตัวก่อนตลาดต่างประเทศ และจะเป็นตลาดที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ตัดขายรีสอร์ต-จัดพอร์ตลงทุน

นายเพชรกล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์การลงทุนระยะยาวดังกล่าว ทำให้ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขายโรงแรมในเครือไป 2 แห่ง คือ โรงแรมเรเนซองส์ สมุย และโรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด มูลค่ารวม 925 ล้านบาท และมีแผนขายเพิ่มอีกจำนวน 3 แห่งภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ประกอบด้วยโรงแรมไอบิส สไตล์ กระบี่, โรงแรมไอบิส กะตะ (ภูเก็ต) และโรงแรมไอบิส หัวหิน

“นโยบายการขายโรงแรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามกลยุทธ์ระยะยาว ที่ต้องการปรับพอร์ตการลงทุน เพิ่มสัดส่วนรายได้ และกำไรที่เกิดจากฐานลูกค้าผู้ใช้บริการภายในประเทศ และลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ” นายเพชรกล่าว

ขายแฟรนไชส์ “ฮ็อป อินน์”

สำหรับแผนการลงทุนในกลุ่มโรงแรม “ฮ็อป อินน์” นอกจากบริษัทจะลงทุนขยายเครือข่ายเองแล้ว ปีนี้จะเปิดให้ผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมแฟรนไชส์ด้วย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายขยายโรงแรมฮ็อป อินน์ ให้มีจำนวนกว่า 100 แห่งภายในปี 2568 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า และเป็นแบรนด์โรงแรมบัดเจตที่มีเครือข่ายมากที่สุดในไทย จากสิ้นปี 2564 ที่มี 47 แห่งใน 36 จังหวัด และ 6 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์

ออริจิ้นฯซื้อไอบิสเปิดแนวรบใหม่

ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้อนุมัติให้ บริษัท วัน ออริจิ้น ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าทำสัญญาซื้อขายโรงแรม 3 แห่ง กับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และบริษัท เอราวัณ นาคา จำกัด ประกอบด้วย ไอบิส ภูเก็ต กะตะ, ไอบิส หัวหิน และไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอในเซ็กเมนต์ใหม่ สำหรับกลุ่มบัตเจตโฮเทล และเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยการขยายโครงการไปยังพื้นที่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยได้ลงนามสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินไปแล้ว เมื่อ 28 มกราคม 2565 คาดว่าธุรกรรมการซื้อขายจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท วัน ออริจิ้นฯ เปิดตัวเมื่อต้นปี 2561 ประกาศแผน 5 ปี ลงทุน 2 หมื่นล้าน ในโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์รวมไม่น้อยกว่า 11 โครงการ โดยกลุ่มแรกคือ โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ คืออาคารสำนักงานให้เช่า และพื้นที่ค้าปลีกรวม โดยโครงการที่เปิดให้บริการแล้วคือ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ, ฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง เป็นต้น

สิงห์ เอสเตท รับซื้อทั่วไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ได้ประกาศบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทในการรับซื้อโรงแรมและรีสอร์ต ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด โดยเปิดให้ผู้สนใจเสนอขายโรงแรม ส่งเอกสารโดยดาวน์โหลดเข้ามาทางเว็บไซต์

สำหรับโรงแรมที่บริษัทสนใจรับซื้อคือโรงแรมที่ติดทะเล และตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว และโรงแรมที่อยู่ในหัวเมืองหลักและเมืองรองตามเขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ทั้งกลุ่มโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 4-5 ดาว ทั้งประเภทโรงแรมหรือรีสอร์ตรูปแบบวิลล่า มีห้องจำนวน 80-140 ห้อง หรือโรงแรมหรือรีสอร์ตรูปแบบอาคารมีห้องจำนวน 140-250 ห้อง โดยเฉพาะโรงแรมในสถานที่ท่องเที่ยงหลักอย่างเช่น พัทยา ภูเก็ต และกระบี่

รวมทั้งรับซื้อโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 3-3+ ดาว ที่เป็นโรงแรมรูปแบบอาคาร ขนาด 80-200 ห้อง ที่อยู่ในหัวเมืองหลักและเมืองรองตามเขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

AWC ตั้งกองทุน 1.65 หมื่นล้าน

ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ภายใต้การบริหารของนางวัลลภา ไตรโสรัส (บุตรสาวของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) เมื่อ 21 ก.พ. 2565 แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้จัดตั้งองค์กรการร่วมทุน (investment vehicle) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนรวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) โดย AWC จะเข้าร่วมลงทุนสัดส่วน 15-60% ส่วนที่เหลือจะร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทระบุว่าเป็นการวางรากฐานในการสร้างแหล่งรายได้แหล่งใหม่ ที่มาจากค่าธรรมเนียมในการพัฒนาและบริหารโครงการที่จะได้รับจากองค์กรการร่วมทุน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาด AWC ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2564 นางวัลลภาได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีผู้เสนอขายทรัพย์สินเข้ามาจำนวนมากกว่า 200 โครงการ อย่างไรก็ตาม การปิดดีลซื้อขายเกิดขึ้นไม่เยอะ ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐและสถาบันการเงินถ้ามีกลไกออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะที่ราคาที่เสนอโครงการยังเป็นราคาซื้อขายปกติ ทำให้ไม่ตอบโจทย์ที่จะนำมาทรานส์ฟอร์มสร้างมูลค่าเพิ่ม

ปิดดีลพัทยา-เชียงใหม่

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเดือน ก.พ. AWC ได้ทำสัญญาซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา สูง 14 ชั้น เลียบหาดจอมเทียน ห้องพัก 287 ห้อง ซึ่งเป็นการซื้อสินทรัพย์จากบริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 550 ล้านบาท และต้องใช้งบประมาณปรับปรุงจำนวน 1,288 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุน 1,838 ล้านบาท

เดือน พ.ย. ลงนามสัญญาเช่าที่ดินริมน้ำประวัติศาสตร์ “ล้ง 1919” จากบริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปีเศษ ด้วยงบฯลงทุน 3,436 ล้านบาท พัฒนาเป็นแลนด์มาร์กศูนย์สุขภาพริมน้ำในระดับสากล จุดหมายปลายทางของคนรักสุขภาพจากทั่วโลก

และเมื่อ 14 ธ.ค. 2564 บอร์ด AWC มีมติเข้าซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก จากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบฯลงทุน 435 ล้านบาท โรงแรมตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลังจากทำสัญญาซื้อขายเรียบร้อยแล้ว “กลุ่มดุสิตธานี” จะยังคงบริหารงานโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ต่อจนกว่า AWC มีแผนจะพัฒนาโครงการใหม่

ดุสิตฯขาย รร.เชียงใหม่ลดหนี้

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า แม้ธุรกิจโรงแรมยังเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลุ่มดุสิตธานีก็ยังมีพัฒนาการและสามารถเดินหน้าขยายธุรกิจได้ตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งปรับปรุงกิจกรรม เตรียมพร้อมโรงแรมและวิลล่า เพื่อตอบสนองเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่

ขณะเดียวกัน บริษัทได้พยายามบริหารสถานการณ์และวางแผนรับมือกับผลกระทบระยะยาวที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด ด้วยการดำเนินตามกลยุทธ์ปรับโครงสร้างทรัพย์สิน อาทิ การขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ให้กับนักลงทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมดังกล่าวต่อ ภายใต้แบรนด์ “ดุสิตธานี” หรือการขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

“เป็นการปรับโครงสร้างทรัพย์สินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันยังรับรู้กำไรส่วนต่างจากมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น และลดภาระหนี้ลงด้วย ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งโครงสร้างทางการเงินอีกทางด้วย ที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างระมัดระวัง ด้วยการให้ความสำคัญกับการลดสัดส่วนของต้นทุน ค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น และรักษาความแข็งแกร่งทางการเงิน” นางศุภจีกล่าว

เข้าพักทรัพย์ พักหนี้ 285 ราย

ขณะที่นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ (เจ้าของ) โอนทรัพย์ไว้กับธนาคาร 5 ปี และได้สิทธิ์มาซื้อคืนในราคาที่ตกลงกัน ล่าสุด ณ วันที่ 14 ก.พ. 2565 มีผู้ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 285 ราย มูลค่า 39,569 ล้านบาทกลุ่มที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรม ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี มีธุรกิจอื่นเข้าร่วมด้วย เช่น โรงงาน ธุรกิจสปา และร้านอาหาร เป็นต้น