จุดรอด “ท่องเที่ยวไทย” ชี้ (ต้อง) มีนักท่องเที่ยว 16 ล้านคน

สัมภาษณ์

รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสำหรับปี 2565 ว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 8-15 ล้านคน และคนไทยเที่ยวในประเทศจำนวน 160 ล้านคนครั้ง มีรายได้รวม 1.3-1.8 ล้านล้านบาท

“ท่องเที่ยวกลไกขับเคลื่อน GDP

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวคิด มุมมอง ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย พร้อมนำเสนอทางรอดของภาคการท่องเที่ยวไทย ไว้ดังนี้

“ชำนาญ” บอกว่า ส่วนตัวยังคงเชื่อมั่นว่า “การท่องเที่ยว” มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ หากธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวและกลับมาแข็งแรงได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ กลับมาฟื้นตัวเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในภาคการเกษตร อาหาร ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ไปจนถึง SMEs และชุมชนในท้องถิ่น และทำให้แรงงานกลับมามีงานทำ มีรายได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้นด้วย ที่สำคัญ หากภาคท่องเที่ยวกลับมา ความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีขึ้นได้ทันที

ปี’65 : รีสตาร์ตธุรกิจ

“ชำนาญ” บอกอีกว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ โดยการทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศจนเกือบจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้ว

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้า 72 ชั่วโมง ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 นี้ และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป จะยกเลิกการตรวจ RT-PCR ในวันแรก (day 0) โดยเปลี่ยนเป็น ATK (โปรเฟสชั่นแนล)

นอกจากนี้ รัฐบาลโดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า จะผลักดันให้ยกเลิกเงื่อนไขการเข้าประเทศทั้งหมด รวมถึงยกเลิกการลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ Thailand Pass ตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป

“เราเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีของการรีสตาร์ตธุรกิจท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาฟื้น และเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของคนในประเทศ สร้างรายได้ 20% ของ GDP สร้างงานให้คน 7.5 ล้านคนได้อีกครั้ง”

จุดรอด : ต่างชาติ 16 ล้านคน

เมื่อถามว่า ประเทศไทยต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่ำเท่าไหร่ถึงจะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศอยู่รอดและมีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ “ชำนาญ” บอกว่า จากข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมระบุว่า จุดคุ้มทุนของธุรกิจหรือจุดที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ติดลบนั้น โรงแรมต้องมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ประมาณ 30-40% ของจำนวนห้องทั้งหมด

นั่นหมายความว่า ในสถานการณ์ปกติซัพพลายไซด์ท่องเที่ยวของไทยลงทุนมาเพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคน หากคิดอัตราเฉลี่ยที่ 30% จำนวนนักท่องเที่ยวที่ทำให้ธุรกิจไม่ขาดทุน ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 12 ล้านคน

หากประเมินจากตัวเลขดังกล่าวนี้ ถ้าจะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และมีรายได้เพียงพอสำหรับการจ้างงานเพิ่ม และมีกำลังสำหรับจ่ายภาษีให้รัฐบาล ประเทศไทยต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่ำประมาณ 40% ของจำนวนที่เคยเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน หรือประมาณ 16 ล้านคนขึ้นไป

ประเด็นสำคัญคือ ตราบใดประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 12 ล้านคนต่อปี แสดงว่าธุรกิจยังอยู่ในแดนลบ

ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องเร่งกระตุ้นให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศผ่านจุดที่เป็น “ทางรอด” ด้วยการทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 16 ล้านคน

Re-design สร้างสมดุลใน 3 มิติ

“ชำนาญ” บอกด้วยว่า การจะผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 16 ล้านคนนั้น ภาคธุรกิจจะต้อง re-design การท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน โดยสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ สมดุลด้านการตลาด (demand-supply) สมดุลด้านสินค้า (natural-manmade) และสมดุลเชิงพื้นที่ (city-community)

โดยในส่วนของสมดุลด้านการตลาด หรือ demand-supply หมายถึง การสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอที่จะรักษาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภาคการท่องเที่ยวให้อยู่รอด รักษาการจ้างงาน แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ เป้าหมายของ สทท. คือ ผลักดันให้เกิด demand ให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน คนไทยเที่ยวไทย 75 ล้านคน-ครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้ และรายได้นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และจ่ายภาษีเป็นแสนล้านบาท

2.สมดุลด้านสินค้า หมายถึงการเพิ่ม manmade ลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โฟกัสการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและบริการ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและ MICE กลุ่มสายศรัทธา ฯลฯ เป็นต้น

รวมถึงกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ที่สอดรับกับนโยบาย BCG Model ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

และ 3.สมดุลเชิงพื้นที่ หมายถึง การแก้ปัญหา over-under tourism ในแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี smart tourism เข้ามาช่วยผู้ประกอบการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ สร้างโอกาสทางการตลาด ทั้งในโลกออนไลน์ ออฟไลน์ และโลก metaverse เพื่อกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs

ร้องปลดล็อกมาตรการ 1 พ.ค.นี้

“ชำนาญ” ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดการเดินทางเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขันกับนานาประเทศ สทท.จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปลดล็อกมาตรการเข้าประเทศทั้งหมดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้

1.เดินนโยบาย Ease-of-Traveling ยกเลิกการตรวจ RT-PCR (day 0) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย เหลือไว้เพียงแค่การตรวจ ATK (โปรเฟสชั่นแนล ATK) และยกเลิกระบบการลงทะเบียนเข้าประเทศ Thailand Pass เพื่อให้การเดินทางเข้าประเทศไทยสะดวกขึ้นโดยเร่งด่วนหรืออย่างช้าคือ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

2.จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ พัฒนา supply-side บุคลากร เทคโนโลยีการตลาด สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

และ 3.ของบประมาณสนับสนุนการส่งเสริมการตลาดเชิงลึกในทุกมิติ และโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ลึกขึ้น อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา, กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย BCG Model ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย

พร้อมย้ำว่า แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะดูเหมือนเป็น “ความฝัน” แต่หากทุกภาคส่วนเดินไปในแนวเดียวกัน ร้องเพลงคีย์เดียวกัน เชื่อว่าความฝันก็จะกลายเป็น “ความจริง” ได้