ไทย เจ้าภาพ ICCA 2023 ต่อยอดดึงงานประชุมนานาชาติเข้าประเทศ

“ทีเสีบ” เผยประเทศไทย เป็นเจ้าภาพงานประชุมนานาชาติขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ICCA Congress 2023 หวังต่อยอดดึงงานประชุมนานาชาติเข้าประเทศ

วันที่ 19 เมษายน 2565 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ICCA Congress 2023 ที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 ซึ่งเป็นการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association) หรือ ICCA องค์กรหลักด้านการประชุมนานาชาติที่มีสมาชิกกว่า 1,000 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

โดยงานดังกล่าวนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญและมีความหมายมากต่อประเทศไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการจัดประชุมสู่อนาคต อีกทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของกรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ให้เป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ซึ่งจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพของกรุงเทพฯในฐานะมหานครปลอดภัย มหานครสีเขียว มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ อีกด้วย

“การจัดงานประชุมนี้ ผลที่ได้ทางเศรษฐกิจนอกจากด้านรายได้ และการขยายโอกาสทางธุรกิจแล้ว ยังสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างระดับนานาชาติจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทั้งในและต่างประเทศตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อประเทศเจ้าภาพจัดงานประชุมซึ่งช่วยสร้างการรับรู้ในตลาดไมซ์คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท”

สำหรับงาน ICCA Congress 2023 กำหนดจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมชาวต่างชาติกว่า 1,000 คน และผู้ร่วมงานชาวไทย ประมาณ 200 คน สร้างรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 105 ล้านบาท เกิดผลประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศประมาณ 59 ล้านบาท และจะเกิดการจ้างงานประมาณ 73 อัตรา ตลอดจนสร้างรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บโดยประมาณจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุม ประมาณ 3.62 ล้านบาท

นายจิรุตถ์กล่าวต่อไปว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนี้ ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยอย่างมาก การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างช่วงการประชุม ICCA Business Exchange ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประมูลสิทธิการจัดงาน ขั้นตอนการคัดเลือก และงบประมาณ สามารถสร้างโอกาสให้ประเทศไทยชนะการประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมต่าง ๆ ในอนาคตได้

นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทำความรู้จัก สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริหารของสมาคมนานาชาติที่จะได้รับเชิญมาร่วมงานดังกล่าว กว่า 30 คน จากโอกาสที่เกิดขึ้นนี้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายเข้ามาจัดงาน จำนวนกว่า 20 งาน

พร้อมกันนั้น ทีเส็บจะใช้โอกาสนี้ เร่งพัฒนาเมืองไมซ์ โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นเมืองไมซ์ เข้าร่วมงาน เพื่อให้รับทราบและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการจัดประชุมวิชาการนานาชาติจากต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาเมืองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานด้านไมซ์สู่สากลสำหรับรองรับการประชุมนานาชาติ

โดยทีเส็บมีเป้าหมายที่จะเชิญสมาคมในประเทศอย่างน้อยอีก 20 สมาคม เข้าร่วมงาน ICCA Congress FOC และการประชุม Incredible Impacts Program ที่นำเสนอให้เห็นผลกระทบเชิงบวกของงานประชุมนานาชาติต่อสังคม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการประชุมวิชาการนานาชาติ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานประชุมในอนาคต อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการทำความรู้จักแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับสมาคมนานาชาติอย่างน้อย 30 สมาคมจากทั่วโลก

“ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้กลับมามีปฏิสัมพันธ์แนบแน่นของประชาคมโลกอีกครั้ง และร่วมกำหนดวิสัยทัศน์แห่งอนาคตในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกับประชาคมโลก และ ICCA ด้วย” นายจิรุตถ์กล่าวสรุป