แอร์ไลน์อ่วมต้นทุนน้ำมันพุ่ง แห่ขึ้นค่าตั๋ว-เส้นทางยุโรป 25%

Photo by Hector RETAMAL / AFP

สายการบินยังเจ็บหนัก ! น้ำมันโลกราคาขยับไม่หยุด ทุกแอร์ไลน์แห่ขอปรับ fuel surcharge เส้นทางบินระหว่างประเทศ ดันราคาตั๋วโดยสารพุ่ง ททท.เผยอุปสรรคใหญ่เปิดประเทศ ราคาตั๋วเส้นทางยุโรปปรับขึ้นแล้ว 20-25% “ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อน” ปรับตัวบุกเส้นทางอินเตอร์ ลุ้นรัฐต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่นลิตรละ 0.20 บาท

แหล่งข่าวในธุรกิจการบินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว แต่การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการสายการบินทั่วโลกกลับมาให้บริการได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เช่นเดียวกับสายการบินในประเทศไทยที่อยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว และขยับเพิ่มเส้นทางบินและความถี่อย่างต่อเนื่องตามมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล

แอร์ไลน์แห่ขึ้นเซอร์ชาร์จน้ำมัน

ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของธุรกิจการบินในขณะนี้คือ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สายการบินต่าง ๆ ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลง (fuel surcharge) สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน

ขณะที่เส้นทางบินภายในประเทศยังต้องแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อไป เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันแยกออกจากค่าบัตรโดยสารได้ ที่สำคัญในเส้นทางที่การแข่งขันสูงก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารได้

สอดรับกับแหล่งข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) หรือ CAAT กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาทุกสายการบินยื่นขอปรับ fuel surcharge สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศไปหมดแล้ว โดยแบ่งเป็นรายภูมิภาค ซึ่งแต่ละสายการบินจะมีอัตราที่แตกต่างกัน เนื่องจากราคาน้ำมันแต่ละประเทศแตกต่างกัน

“สายการบินระหว่างประเทศเราต้องให้การแข่งขันแบบเสรี เราจึงยอมให้เอาค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงแยกออกมา ราคาตั๋วโดยสารโดยรวมจึงมีความยืดหยุ่นตามราคาน้ำมัน”

ADVERTISMENT

การบินไทยปรับตั้งแต่ เม.ย.

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของการบินไทยได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลง สำหรับเส้นทางระหว่างประเทศในทุกภูมิภาคไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา เฉลี่ยที่ประมาณ 12-15%

“หลักการพิจารณาปรับขึ้นค่า fuel surcharge ขึ้นอยู่กับระยะทางการบิน และชั้นผู้โดยสาร ขณะที่ค่าตั๋วโดยสารแต่ละเส้นทางบินจะมีตารางที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ADVERTISMENT

เส้นทางยุโรปขยับแล้ว 20-25%

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของไทยในขณะนี้คือ จำนวนเที่ยวบินที่ทำการบินตรงจากประเทศโซนยุโรปเข้าประเทศไทยยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

เนื่องจากสายการบินต่าง ๆ ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว หรือกรณีสายการบินที่กลับมาให้บริการแล้ว แต่ความถี่ไม่มาก ทำให้การเดินทางจากยุโรปเข้าประเทศไทยบางส่วนต้องไปต่อเครื่องบินในประเทศตะวันออกกลาง

“ไม่เพียงแค่ข้อจำกัดเรื่องการเดินทางที่มีเที่ยวบินตรงน้อยเท่านั้น แต่ด้วยต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้ทำให้สายการบินส่วนใหญ่ปรับขึ้นค่าบัตรโดยสารโดยรวม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ในเส้นทางยุโรป ราคาตั๋วโดยสารปรับขึ้นไปเฉลี่ยราว 20-25% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด” นายฉัททันต์กล่าว

“โลว์คอสต์” ดิ้นเปิดบินอินเตอร์

ด้าน นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ สายการบินไทยแอร์เอเชียเดินหน้าเปิดเส้นทางระหว่างประเทศทันที เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศที่อั้นมานาน ประกอบกับเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นตลาดที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มากกว่า เนื่องจากสามารถแยกการจัดเก็บค่า fuel surcharge ออกจากราคาบัตรโดยสารได้

“ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สายการบินก็ต้องปรับขึ้นค่า fuel surcharge ในเส้นทางบินต่างประเทศตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน ส่วนเส้นทางบินในประเทศยังต้องแบกรับต่อไป” นายสันติสุขกล่าว

เช่นเดียวกับ นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับธุรกิจสายการบินในขณะนี้คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันต้นทุนราคาน้ำมันมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของต้นทุนทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 30%

ขณะที่การกำหนดราคาบัตรโดยสารยังปรับขึ้นไม่ได้มากนัก ดังนั้นสายการบินต่าง ๆ จึงมีแผนขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้

“ตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ทุกสายการบินจึงต้องมีการวางกลยุทธ์การแข่งขันให้รอบคอบ” นางนันทพรกล่าวและว่า สำหรับไทยไลอ้อนแอร์จะเน้นการเสนอราคาที่เหมาะสมกับต้นทุน เป็นราคาที่ไม่เจ็บตัว เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนที่ต้องแบกรับในช่วงโควิด-19 มาหลายปี

ลุ้นรัฐลดภาษีสรรพสามิตถึงสิ้นปี

นางนันทพรกล่าวต่อไปอีกว่า ประเด็นที่เป็นความหวังและน่าจะช่วยลดภาระต้นทุนของของผู้ประกอบการสายการบินในขณะนี้คือ กรณีที่สมาคมสายการบินประเทศไทยขอให้ภาครัฐพิจารณาขยายมาตรการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่น ลิตรละ 0.20 บาท ที่จะสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565 ขยายไปสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565

สอดรับกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียที่กล่าวว่า ผู้ประกอบการสายการบินได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอลดการจัดเก็บค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นขอให้พิจารณาขยายมาตรการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่นไปถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะเห็นสัญญาณบวกของการต่ออายุมาตรการดังกล่าวเร็ว ๆ นี้