ทีเส็บคาดอุตสาหกรรมไมซ์ กลับมาเท่าก่อนโควิดในปี 2567

ศุภวรรณ ตีระรัตน์
ศุภวรรณ ตีระรัตน์

ทีเส็บคาดอุตสาหกรรมไมซ์ กลับมาเท่าก่อนโควิดในปี 2567 ส่วนปีนี้คาดสร้างรายได้ราว 5 หมื่นล้าน เชื่อเทรนด์งานไมซ์ในอนาคต เน้นไฮบริด ช่วยขยายฐานตลาดให้กว้างมากขึ้น

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างรายได้ให้กับประเทศราว 200,000 ล้านบาท นำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 1.2 ล้านคน เดินทางเข้าประเทศไทย และทำให้ชาวไทยออกเดินทางราว 29 ล้านคน

ยิ่งไปกว่านั้น พบว่านักเดินทางไมซ์มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 85,000-200,000 ต่อคนต่อทริป ใช้ระยะเวลาเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 วัน แต่สถานการณ์หลังจากนี้คาดว่านักเดินทางไมซ์จะใช้เวลาต่อทริปสั้นลง เป็น 3-4 วันต่อทริป

นางศุภวรรณ ประเมินว่า อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยจะกลับมาสู่สภาวะเดียวกับก่อนการระบาดโควิด-19 ได้ใน 2 ปีนับจากตอนนี้ หรือราว 2567 จากการที่สายการบินกลับมาให้บริการเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น และมีความถี่เที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักเดินทางไมซ์ส่วนหนึ่งต้องใช้เครื่องบินในการเดินทาง

“การเปิดประเทศ และภาคธุรกิจกลับมาให้บริการ ถือปัจจัยบวกของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีนี้” นางศุภวรรณ กล่าว

ส่วนปัจจัยลบ คือ การระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวไมซ์

นางศุภวรรณ คาดว่า ปี 2565 นี้ อุตสาหกรรมไมซ์จะสร้างรายได้ให้กับประเทศราว 5-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องจับตาจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนแผนของปี 2566 ทางทีเส็บได้กำหนดแผนงานภายใต้แนวคิด MICE to meet you in Thailand 2023 กระตุ้นการจัดงานในประเทศไทยโดยปัจจุบันทีเส็บได้ประมูลงานต่าง ๆ ทั่วโลก

นางศุภวรรณ ประเมินว่า ในอนาคตงานไมซ์จะเป็นลักษณะ Hybrid มากขึ้น กล่าวคือ จะมีการจัดงาน on-site ผสานกับการเข้าร่วมงานแบบออนไลน์ แต่งานดังกล่าวจะไม่ทำให้จำนวนผู้ร่วมงานลดลง แต่กลับเป็นการขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น

นอกจากนี้ ทีเส็บ ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (PATA) เตรียมจัดประชุม PATA Destination Marketing Forum 2022 ตั้งแต่ 2 – 4 สิงหาคม นี้ ณ จังหวัดสงขลา

โดยการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการนำเหล่าผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ระดับผู้บริหารได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์เมืองไมซ์ (MICE City) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับจังหวัดอีกช่องทาง

สำหรับการจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะเกิดการใช้จ่ายทางตรงจากงานราว 100 ล้านบาท ยังไม่รวมการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวในอนาคต

“สำคัญกว่านั้น คือการที่เราได้พัฒนาเมือง ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวไมซ์” นางศุภวรรณ กล่าว