บีโอไอเสริม 5 โครงการ วงเงิน 1.28 แสนล้าน รถไฟฟ้า-โครงข่ายจราจร-โตโยต้าไฮบริด

บอร์ดบีโอไอพิจารณาให้ส่งเสริมการลงทุนรวม 5 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 128,000 ล้านบาทเพิ่มส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู และสายสีเหลือง พัฒนาโครงข่ายสาธารณะแก้ปัญหาจราจรด้าน “โตโยต้า” ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวม 5โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 128,177 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

1. บริษัทไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการประกอบรถจักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 500 ซีซีขึ้นไป เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,359 ล้านบาท กำลังผลิตปีละประมาณ 120,000 คัน ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 3,708 ล้านบาท อาทิ ชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ชิ้นส่วนเหล็กทุบ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง เป็นต้น รวมถึงมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งบุคลากรไปเรียนรู้เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่บริษัทแม่ประเทศอังกฤษ

2. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น DOOR,BUMPER และ FRONT/REAR AXLE เป็นต้น ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,016 ล้านบาท โดยโครงการจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา

3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางรางในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง –บางแค และบางซื่อ –ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 22,036 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงข่ายสาธารณะ แก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลและเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศให้มีความสมบูรณ์

4. บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางราง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย –มีนบุรี)ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 46,064 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงข่ายสาธารณะ แก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพและปริมณฑล มีส่วนสำคัญช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจก่อสร้าง ภาคธุรกิจบริการ และภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

5. บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางราง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 43,404 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงข่ายสาธารณะแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลมีส่วนสำคัญช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจก่อสร้างภาคธุรกิจบริการและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์