“หมอมานพ หมอรังสฤษฎ์ ชัชชาติ ป๋วย” แท็กทีมแนะรัฐเร่งจัดหาวัคซีน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กู้วิกฤติศรัทธาประชาชน

วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มีคุณภาพสูง แต่ทำไมยังเห็นการสั่งซื้อวัคซีนตัวเดิมเข้ามาเรื่อยๆ ไม่มีแผ่ว แถมยังมีสูตรฉีดวัคซีนไขว้ที่ทำเอาหลายคนเริ่มไม่มั่นใจ พอออกความเห็นมากเข้าก็ถูกโยงเข้าขั้วตรงข้ามทางการเมืองไปเฉย! ยังไม่นับวิกฤติความเชื่อมั่นที่รัฐบาลต้องเผชิญจากการบริหารจัดการโควิดที่ไม่เข้าเป้า จนลุกลามเป็นสาเหตุของวิกฤติอื่นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดคือประเด็นสนทนาสุดเข้มข้นในหัวข้อ “วัคซีนประเทศไทย ก้าวใหม่ฝ่าวิกฤติ” ในงาน “Healthcare 2021” จัดโดยเครือมติชนร่วมกับพันธมิตรชั้นนำ ที่มี 4 ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ทั้ง ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม แคนดิเดตผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมเขียนหนังสือ “Vaccine War : สมรภูมิวัคซีนโควิด-19” มาร่วมเวทีเดียวกัน โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรหญิงมือหนึ่งในปัจจุบันดำเนินรายการ

เจาะให้ถึงแก่นปัญหาโควิด วิเคราะห์สถานการณ์เมืองไทย เพื่อให้เดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแกร่ง

“สูตรวัคซีนไขว้เป็นสูตรเฉพาะกิจ ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น”

“ผมเชื่อว่าโควิดในไทยตอนนี้ยังไม่พีค เพราะตัวเลขรายวันที่ ศบค. รายงาน มีเพดานการตรวจอยู่ ยังไม่รวมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ตรวจด้วยชุด ATK คนที่เข้าไม่ถึงการตรวจก็ยังมีมหาศาล ไหนจะคนไข้ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วยจากโควิดแต่ไม่ถูกนับ เรื่องคุณภาพของ ATK ที่เกรงว่าจะคลาดเคลื่อน ก็ไม่ควรเป็นประเด็น คือใช้ไปเถอะ นับไปเถอะ เพราะการตรวจ ATK จำนวนมากจะได้ภาพรวมตรงตามความเป็นจริงมากกว่า เพราะฉะนั้นตัวเลขทางการตอนนี้ไม่สะท้อนความเป็นจริง” คือความเห็นของ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ผู้ติดตามสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด และให้ความเห็นที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง 

ในวันที่สังคมต้องการวัคซีนตัวอื่นเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งและพาทุกคนรอดไปด้วยกัน แต่เราก็ยังเห็นการสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเพิ่มอีก 12 ล้านโดสในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของซิโนแวคที่เงียบหายไปพักใหญ่กลับกระพือขึ้นมาอีก 

“ตอนนี้ถ้าเราคุยด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ควรเถียงกันแล้ว ในช่วงต้นปัญหาเกิดจากทรัสต์ คืออย่าใช้คำว่าด้อยค่าหรือให้ค่าเกินจริง ให้พูดตามความเป็นจริง การไม่พูดความจริงจะทำให้คนไม่เชื่อ การเลือกพูดด้านดีคือไม่ได้พูดโกหก แต่พยายามเน้นบางอย่างและเลือกจะไม่พูดบางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ดังนั้นเมื่อภาครัฐพยายามโน้มน้าวอะไรก็ตาม คนก็จะลังเล ไม่มั่นใจ ยิ่งทำให้ภาครัฐออกแนว propoganda (โฆษณาชวนเชื่อ) มากขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ มันควรจะจบแล้วว่าวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มีคุณภาพสูง” “หมอมานพ” สรุปกลายๆ พร้อมบอกด้วยว่า ในต่างประเทศการถกเถียงเรื่องข้อมูลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโควิดเป็นเรื่องปกติ แต่ในบ้านเรากลายเป็นพอพูดมากเดี๋ยวภัยจะมาถึงตัว

ส่วนเรื่องการแก้ไขวิกฤติโควิดนั้น ศ.นพ.มานพบอกว่า จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคือต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา ถ้ายอมรับและหาวิธีแก้ไขปัญหา พร้อมกับเปิดใจกว้างให้ทุกภาคส่วนมาระดมความคิดหาทางออก ก็น่าจะช่วยได้ ไม่ใช่ตั้งป้อมว่าคนอื่นจะมาทำลายล้างหรือบั่นทอน ทุกคนบาดเจ็บจากวิกฤตินี้เยอะ แต่เจ็บแล้วต้องจำ ไม่ใช่เรื่องเจ้าคิดเจ้าแค้น แต่อยากให้ใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียน ปรับปรุง แก้ไข ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เป็นจุดกำเนิดของเวฟทั้งหลาย เรามีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น อังกฤษ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีว่าทำอย่างไรเราถึงจะอยู่กับโควิดในระยะยาวได้ เพราะคงจะล็อกดาวน์ไปตลอดไม่ได้ 

ส่วนเรื่องสูตรวัคซีนไขว้ ศ.นพ.มานพทิ้งท้ายว่า…

“ไปที่ไหนผมก็พูดเหมือนเดิม สูตรวัคซีนไขว้เป็นสูตรเฉพาะกิจ ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ต้องบริหารจัดการในสถานการณ์ที่เหมาะสม เมื่อทุกอย่างผ่านไป เราสามารถหาวัคซีนคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม ก็กลับมาใช้สูตรปกติ แผนระยะสั้นคือบริหารจัดการในสิ่งที่มี จากนั้นต้องเปลี่ยนถ่ายกลับไปในสิ่งที่ควรจะเป็น”

คนไม่ได้ฉีดเพราะวัคซีนไม่มา ไม่ใช่เพราะด้อยค่าซิโนแวค

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” เปิดฉากพูดถึงสถานการณ์โควิดตอนนี้ว่ามีตัวเลขแฝงเยอะ เพราะมีหลายข้อที่ชวนคิด ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่อาจยังไม่รวมผู้ป่วยที่ตรวจ  ATK  ตัวเลขที่หายป่วยนับรวมคนตรวจ ATK เข้าไปด้วยหรือไม่ ยังไม่นับว่าออกจากโรงพยาบาลแล้วไปโฮม ไอโซเลชั่น อีกหรือเปล่า ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าตอนนี้ถึงจุดพีคแล้วหรือยัง 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่กังวลคือศูนย์ฉีดวัคซีนไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะวัคซีนมาไม่ถึงเสียที ไม่ใช่เรื่อง “ด้อยค่า” วัคซีนบางตัวเป็นหลัก อย่างที่มีคนพยายามจุดประเด็น 

“ศูนย์ฉีดวัคซีนบางวันว่างมาก ผมก็กังวลว่าทำไมมันว่างขนาดนี้ ก็มีคนบอกว่านี่ไง คนไม่อยากฉีดซิโนแวคเพราะมีคนอย่างพวกผมไปด้อยค่าซิโนแวค หรือบางคนก็บอกว่า ที่คนไม่ฉีดเพราะกลัวสูตรไขว้ แต่ปัญหาจริงๆ คือวัคซีนไม่มา และระบบการนัดที่ไม่เป็นระบบ เลยฉุกละหุกไปหมด วางแผนอะไรไม่ได้เลย อยู่ที่ความเมตตาว่าเขาจะส่งวัคซีนมาไหม เพราะวัคซีนมีจำกัดและพุ่งไปจุดระบาดสูงสุด ที่บอกว่าด้อยค่าซิโนแวคเป็นส่วนน้อยจริงๆ ที่ผ่านมามีคนเชียร์ซิโนแวคเหมือนมันทำได้ทุกอย่าง อันนั้นก็เกินจริง เลยต้องบอกข้อจำกัดของซิโนแวคว่าคืออะไร ไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้ เพราะถ้ารอวัคซีนที่ดีกว่าก็จะเกิดหายนะ”

“หมอหม่อง” บอกด้วยว่า จากเรื่องข้อมูลเชิงวิชาการ ระยะหลังมานี้เรื่องวัคซีนบานปลายไปถึงเรื่องการเมือง ใครเชียร์ซิโนแวคเป็นสลิ่ม เชียร์เอ็มอาร์เอ็นเอคือสามกีบ ทั้งยังพบ “เฟก นิวส์” ได้จากทั้งสองฝ่าย และพอต้องรบในวิกฤติสาธารณสุข ก็เผยให้เห็นว่าความมั่นคงทางสาธารณสุขของไทยแย่มาก 

“เราเป็นสังคมบริโภคอย่างมาก ไม่ใช่สังคมการผลิตเลย ชุดตรวจต่างๆ ก็ไม่ได้ผลิตเอง ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ของเราไม่ได้เก่งน้อยกว่าใคร แต่การจะออกมาในสเกลระดับอุตสาหกรรม รัฐต้องทุ่มเทและเอาจริงมากกว่านี้ เราต้องทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของเราเข้มแข็ง ศึกครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จะมีอุบัติการณ์ใหม่ๆ ในโลกนี้เป็นระยะ ถ้าเราเจ็บตัวขนาดนี้และไม่เตรียมพร้อมก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว เราต้องกลับมาพึ่งพาตัวเองให้มีความมั่นคงทางสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง การลงทุนในเรื่องนี้ยังไงก็คุ้มค่าแน่นอน” 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดก็เผยให้เห็นว่า “ทรัสต์” หรือความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐถูกสั่นคลอนหลายเรื่อง เพราะนโยบายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บางทีมีเอกสารหลุดออกมาก็บอกว่าเป็นเอกสารปลอม ทั้งที่เป็นเอกสารจริง เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ หลายครั้งเข้า ก็ทำให้ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐเกิดปัญหา และลามเป็นวิกฤติอื่นๆ ต่อเนื่อง

“ในวิกฤตินี้ สิ่งที่อยากเห็นมากสุดคือการสร้างความศรัทธาของภาครัฐกลับคืนมา ที่ทำมาแต่ละครั้งนั้นทำผิดวิธี การสร้างศรัทธากลับมาไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์หรือหยิบความสวยงามต่างๆ มาให้ดู ยุคนี้ปิดอะไรกันไม่ได้แล้ว สิ่งที่อยากเห็นจากภาครัฐไม่ใช่ความอหังการ แต่อยากเห็นความเห็นอกเห็นใจ ความถ่อมตน อย่ามองคนอย่างผมเป็นศัตรู ผมอยากเห็นความเจริญก้าวหน้า ถ้าสร้างทรัสต์ได้ก็จะช่วยทำให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ง่ายขึ้น” นพ.รังสฤษฎ์ทิ้งทวน

“ผมว่าคนอดตายน่าจะมากกว่าคนติดโควิด” 

ในมุมมองของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เห็นว่า สถานการณ์โควิดในไทยยังไม่น่าจะถึงขั้นพีค อย่างไรก็ตาม เดือนที่ผ่านมานับว่ารุนแรงมาก มีคนเสียชีวิตในบ้านเพราะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขเยอะมาก ไม่นับคนตายตามท้องถนนที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ถ้ามองสถานการณ์ช่วง 2 สัปดาห์นี้ถือว่าเริ่มดีขึ้น อาจเพราะเปลี่ยนกลยุทธ์มาทำโฮม ไอโซเลชั่น และแจกยาฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวเริ่มมีแล้ว แต่คอขวดยังอยู่ที่เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง นอกจากนี้ ยังเห็นความร่วมมือในการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ดีขึ้น 

“โควิดประกอบด้วย 3 ขา คือ ระบบสาธารณสุข การบริหารจัดการภาครัฐ และทุนทางสังคม อย่างแรกอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่อย่างหลังช่วยอุดรูรั่วที่ภาคสาธารณสุขไทยเข้าไม่ถึงในระบบเส้นเลือดฝอย ถ้าทำให้กลุ่มเหล่านี้เข้มแข็ง ก็จะอยู่ได้นานกว่า ศบค. และถ้าทำให้ดีก็จะช่วยอุดช่องว่างในเส้นเลือดฝอยได้มากขึ้น แต่ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้มแข็งขึ้น และต้องมองให้ทะลุ” 

ต่อข้อกังขาที่คนจำนวนมากเห็นว่า การแก้วิกฤติโควิดของไทยมาถูกทางหรือเปล่า? อดีต รมว.คมนาคม บอกว่า นาทีแรกเราประกาศชัยชนะเร็วไป จึงส่งผลต่อการเลือกวัคซีน เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด แต่นาทีนี้ต้องอย่ากังวลกับกระดุมที่ติดผิดไปแล้ว ทางเลือกคือเดินหน้าติดกระดุมใหม่เท่านั้น 

“คนเราต้องยอมรับผิดได้และมูฟออน บางทีเราไปห่วงต้นทุนที่เสียไปแล้ว เรื่องตัดสินใจผิด เรื่องกลัวคนมาว่า เราต้องยอมรับผิด ผมว่าทรัสต์คือสิ่งที่มีค่าที่สุด เมื่อไหร่ที่สูญเสียไปคือเสียหายมาก ตอนนี้มันคือความล่มสลายของความไว้วางใจระดับประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ที่เราเคยไว้ใจ พูดอะไรมาเราก็เชื่อ แต่ตอนนี้ขนาดทำให้หมอไม่ได้รับความไว้วางใจได้ ทุกอย่างมันน่ากลัวแล้ว พอระบบทรัสต์มันเจ๊ง ต่างชาติจะไว้ใจเราหรือ เรายังจัดการกันเองไม่ได้เลย พอเราไม่ทรัสต์ เราก็ไปหาเฟก นิวส์ ในไลน์” 

เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้ประเด็นสาธารณสุข “ผมว่าคนอดตายน่าจะมากกว่าคนติดโควิด” ดร.ชัชชาติย้ำ แล้วบอกว่าไม่เชื่อว่าการล็อกดาวน์จะมีประสิทธิภาพมาก ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต อย่าเรียกว่าคลายล็อก แต่เรียกว่า “เปิดอย่างมียุทธศาสตร์” ซึ่งสิ่งที่ควรเปิดให้เร็วคือโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ต้องฉีดวัคซีน 100% ห้างก็ควรเปิด แต่หัวใจคืออย่าผลักภาระให้ภาคเอกชน 

ในสถานการณ์โควิด คนที่ตายหนักสุดคือเอสเอ็มอีซึ่งมีหลายล้านราย ดังนั้นต้องดูแลให้กลุ่มนี้รอดไปได้ก่อน เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายอะไรให้เอสเอ็มอีได้ก็ควรลด อย่าแค่พักชำระหนี้ และต้องทำควบคู่กับการนำวัคซีนเข้ามาต่อลมหายใจให้เร็ว ทั้งยังต้องทำเรื่อง “เศรษฐกิจของความไว้วางใจ” ต้องสร้างระบบความไว้วางใจ สร้างระบบและขั้นตอนที่คนตัวเล็กตัวน้อยต้องการ สุดท้ายคือสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาในยุคโควิด สร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโควิด 

“สรุปคือต่อไปต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่จากความไว้วางใจ และเศรษฐกิจใหม่จากโควิด ในวิกฤติมีโอกาส และในโอกาสก็คือธุรกิจจากโควิด รัฐบาลต้องมองอนาคตให้แตก ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน อยู่กับปัจจุบันเยอะๆ อย่ากังวลอนาคตมาก ดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดี ส่วนผู้บริหารและผู้มีอำนาจอย่าอยู่กับปัจจุบัน แต่ต้องคิดถึงอนาคตเยอะๆ ต้องเอาอนาคตมากำหนดปัจจุบัน” 

วิกฤติศรัทธาคือเรื่องน่ากังวล

ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ เห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างสาหัส เพราะวัคซีนมาไม่ทัน ขณะที่เชื้อพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และตอนนี้ต่างประเทศก็เริ่มมีปัญหา เพราะภูมิที่ขึ้นหลังฉีดวัคซีนไปแล้วเริ่มตก โอกาสติดเชื้อเริ่มกลับมาใหม่ หากไทยได้วัคซีนมาเยอะและสามารถกดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะลดลง แต่ก็ต้องคิดหาวิธีคลายล็อกอย่างไรไม่ให้ตัวเลขพุ่งขึ้นอีก และต้องคิดหาวิธีที่ไทยจะพึ่งพาตัวเองได้ เพราะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาลงทุนในบริษัทหลายแห่งเพื่อพัฒนาวัคซีน เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วก็ต้องใช้ในสหรัฐอเมริกาก่อนจะออกสู่ประเทศอื่น 

“ตอนนี้หลายอย่างเราบริหารแบบคนสิ้นหวัง ทั้งที่ถ้าเราเรียนรู้จากต่างประเทศก็จะเป็นแนวทางได้ ถ้าจำนวนคนติดเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังจัดการไม่ได้ก็จะยิ่งน่ากังวล วิกฤติศรัทธาก็เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลมาก อย่างถ้าหมอชนหมอ เราควรเชื่อหมอคนไหน ถ้าวิกฤติศรัทธายืดเยื้อไปเรื่อยๆ วิกฤติอย่างอื่นก็จะยิ่งยาว 

“ตอนนี้วัคซีนที่มีก็ฉีดให้กันป่วย กันหนัก กันตาย ไว้ก่อน ส่วนการนำเข้าหลายอย่างก็เป็นการพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเมื่อไม่ยอมรับกับประชาชนว่าคือปัญหาที่พลาดมาแล้ว ก็ยิ่งเละ อย่างล่าสุดที่ซื้อซิโนแวค 12 ล้านโดส ก็ต้องอธิบายกับประชาชนให้ได้ว่าซื้อมาทำไม” 

แม้ไทยจะเผชิญวิกฤติ แต่ในนั้นก็ยังมีโอกาส อย่างที่ ผศ.ดร.ป๋วย บอกว่า เมื่อเห็นความอัปลักษณ์หลายอย่างในระบบโผล่ขึ้นมา ก็ควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะไม่วนกลับมาเป็นงูกินหาง ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่อืดอาด จะแก้อย่างไรให้สะดวก รวดเร็ว ในสภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรนำข้อมูลต่างๆ มาพัฒนาเป็นระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการกระจายเชื้อได้มาก 

“หากรัฐบาลจะทำให้ดีกว่านี้ต้องมี 3 เรื่อง คือ 1. นโยบายต้องชัดเจน 2. ต้องโปร่งใส และ 3. ต้องยอมรับปัญหา ไม่ใช่คนเขาต่อต้าน แต่เขาชี้ปัญหาให้เห็นเพื่อจะได้แก้ บทเรียนจากหลายประเทศมีให้เรียนรู้หมด เรื่องโควิดทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ เพราะสามารถเข้าถึงความรู้เหมือนกันได้ ในทางกลับกัน คนที่เชี่ยวชาญก็อาจผิดได้เหมือนกัน” 

*******************************************


#เครือมติชน #มติชน #ข่าวสด #ประชาชาติธุรกิจ #Healthcare2021 #วัคซีนประเทศไทย #วัคซีนประเทศไทยก้าวใหม่ฝ่าวิกฤติ #มานพพิทักษ์ภากร #รังสฤษฎ์กาญจนะวณิชย์ #ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ป๋วยอุ่นใจ #จอมขวัญหลาวเพ็ชร์