ทุเรียนล้านตัน หวั่นราคาตก ชง “ประยุทธ์” ขนขึ้นรถไฟจีน-ลาว

ทุเรียนภาคตะวันออกแสนล้านบาทวุ่น จีนเข้มมาตรการ Zero COVID เปิด-ปิด 4 ด่านทางบก หวั่นเสียหายหนัก ชาวสวนดิ้นขอเงินอุดหนุนทำแผนกระจายสินค้าตลาดใน-ต่างประเทศ ให้รัฐช่วยจ่ายค่าขนส่ง 3 บาท/กก. เช่าเครื่องบินเหมาลำราคาพิเศษ จัดงาน Durian Week ชง “ประยุทธ์” เจรจาขนขึ้นรถไฟจีน-ลาว

นับถอยหลังเหลือเวลาเพียง 30 วันจะถึงปลายเดือนเมษายน 2565 ทุเรียนภาคตะวันออกปริมาณ 740,000 ตัน หรือเกือบล้านตัน มูลค่ากว่าแสนล้านบาทจะเริ่มทยอยออกมาวันละ 200-300 ตู้ และเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 700-1,000 ตู้ แต่ผู้ประกอบการยังติดปัญหาการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีนยังตรวจเข้ม Zero COVID

นอกจากนี้ยังเปิด ๆ ปิด ๆ 4 ด่านทางบก คือ ด่านโหย่วอี้กวน ด่านตงซิน ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านโมฮาน ซึ่งล่าสุดปิด 3 ด่าน เปิดเฉพาะด่านโมฮาน มีรถผ่านด่านได้ 10 คันต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในฤดูทุเรียนภาคใต้ รถส่งออกไปติดหน้าด่านเสียหายไปจำนวนมหาศาล

ชงรัฐอัดงบฯหนุนค่าขนส่ง

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขปัญหาการขนส่งผลไม้ภาคตะวันออกเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลทราบแล้ว โดยการประชุมหอการค้าภาคตะวันออก (19-20 มี.ค.) ที่จันทบุรีโฟกัสการแก้ไขระบบการขนส่งที่ด่านทางบก 4 ด่าน ได้ข้อสรุปที่ต้องรีบดำเนินการใน 1 เดือน คือ ระบบการขนส่งทั้งทางเรือ ทางบกใช้เวลานาน เพราะจีนยังเข้มมาตรการ Zero COVID

ส่วนทางเครื่องบินค่าขนส่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ทางออกคือได้บริษัท อาร์ซีแอล จำกัด (มหาชน) บริษัทขนส่งทางเรือจะเปิดเส้นทางพิเศษขนส่งผลไม้จากท่าเรือมาบตาพุด หรือท่าเรือแหลมฉบัง ไปฮ่องกง เสิ่นเจิ้น กว่างโจว จีนทางตอนใต้ เที่ยวละ 300 ตู้ต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะขอให้มีการตรวจพิธีการที่ต้นทางและผ่านด่านโมฮานไปเปิดตู้ที่ตลาดคุนหมิง และขอให้จีนเปิดบริการได้ในเดือนเม.ย. 2565 โดยการเจรจาขอเพิ่มโควตา และขอสนับสนุนค่าขนส่งทางเครื่องบินกิโลกรัมละ 40 บาทให้ผู้ประกอบการรับได้

“ถ้าใช้ท่าเทียบเรือมาบตาพุดได้จะประหยัดการเดินทางไปแหลมฉบัง 1 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ต้องเจรจาขอโควตา 14 เที่ยว/สัปดาห์ ซึ่งมีแนวโน้มน่าเป็นไปได้ เพราะมีการขนส่งขนุนจากจ.ระยองไปบ้างแล้ว วันที่ 23 มี.ค. ผู้ประกอบการจะเดินทางไปที่ด่านโมฮานถ้าเป็นสายการบินขนส่งได้ 30 ตัน/เที่ยวผู้ประกอบการรับภาระค่าขนส่งได้ กก.ละ 40 บาท คาดว่าจะเห็นผลเม.ย.นี้

ส่วนที่ต้องการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หอการค้าไทยจะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เช่น การเจรจาขอโควตาตู้รถไฟจีน-ลาว และการขอทำพิธีการต้นทางไปเปิดตู้ที่คุนหมิง การสนับสนุนค่าขนส่งทางเครื่องบินในอัตราที่ผู้ประกอบการรับได้ และไทยต้องให้ผู้ประกอบการดำเนินมาตรการ Zero COVID กับผลไม้ไทยทั่วประเทศไม่เฉพาะภาคตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้จีน” นายปรัชญากล่าว

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานกรรมการหอการค้า จ.จันทบุรี กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องเร่งแก้ปัญหา 2 ส่วน คือ ปัญหาการขนส่งไปตลาดจีนและการกระจายสินค้าภายในประเทศ ปัญหาระบบการขนส่ง ต้องเร่งดำเนินการ 4 แนวทางคือ 1.เร่งเจรจาแบบทวิภาคี ระหว่างรัฐ-รัฐและเอกชน-เอกชน

2.เร่งเปิดเจรจารถไฟจีน-ลาวให้ได้ภายในเดือนเม.ย. 2565 โดยขอปิดตู้ที่ไทย และตรวจที่ด่านปลายทางคุนหมิง โดยผลไม้ต้องมีมาตรฐาน Zero COVID เช่นเดียวกัน 3. เปิดเส้นทางการเดินเรือพิเศษมาบตาพุด-ฮ่องกง จีนตอนใต้ 4.ทางเครื่องบินขอภาครัฐสนับสนุนค่าขนส่งสินค้าพรีเมี่ยม

ส่วนการกระจายสินค้าในประเทศขอให้ภาครัฐสนับสนุนระบบการขนส่งในการกระจายสินค้าทั่วประเทศกิโลกรัมละ 3 บาทเปลี่ยนจากการสนับสนุนรวบรวมผลผลิต ขอให้จัดงาน Durian Week ระดับประเทศ และช่วยค่าขนส่งการค้าออนไลน์ ร่วมบริษัทเอกชนและเพิ่มระบบขนส่งแบบแช่แข็ง แช่เย็น

“แผนระยะสั้นต้องแก้ไขเร่งด่วนในฤดูกาลนี้ คือ ระบบการขนส่งเพื่อส่งออกไปจีน ผลผลิต 800,000 ตัน ส่งออก 70% ปริมาณ 560,000 ตัน การบริโภคในประเทศ 20% ปริมาณ 160,000 ตัน ถ้าเพิ่ม 30% ปริมาณ 250,000 ตัน และอีก 10%”

ด้านนายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังคงเลือกการขนส่งทางบกก่อน แม้มีความหวังน้อยมาก และขอเจรจาเปิดทางใช้รถไฟจีน-ลาว ภายในเม.ย.และให้มีการปิดตู้ที่ประเทศไทย ขนส่งผ่านด่านโมฮาน และเปิดตู้ที่เมืองคุนหมิง ถ้าเจรจาได้รถไฟจะให้บริการได้วันละ 14 เที่ยว เที่ยวละ 100-1,000 ตัน ใช้เวลาเพียง 4-6 ชั่วโมง ส่วนทางเรือ มีปัญหาตู้ที่กลับช้า การจองระวางตู้ จำนวนตู้ต้องบริหารจัดการตามกำหนดเวลา

ส่วนทางเครื่องบินเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องเร่งรีบส่งสินค้าเพื่อหนีระดับราคาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากและมีการปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มจากกก.ละ 8 หยวน เป็น 13 หยวน ผู้ประกอบการขอให้ราคาเฉลี่ย 10-11 หยวนต่อ กก. ถ้าเหมาลำ 25-36 ตัน ราคา 4-4.5 ล้านบาท ถ้าภาครัฐช่วยสนับสนุนโดยใช้เครื่องบินของรัฐ ลดค่าขนส่งเหลือ 1.2-1.5 ล้านบาท จะเป็นทางเลือกขนส่งทุเรียนพรีเมี่ยม

กกร.ชงประยุทธ์เร่งเจรจาผู้นำจีน

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงปัญหาการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนผ่านทางบก จากนโยบาย Zero COVID มีการตรวจตู้สินค้าทุกตู้อย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผลไม้ไทย

โดยมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 1.เร่งเจรจากับรัฐบาลจีนให้เปิดสถานีรถไฟโมฮานให้ทันเม.ย.2565 2.ขอให้มีการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย (จีน-เวียดนาม) เพื่อขยายเวลาเปิดด่านระหว่างกัน โหย่วอี้กวนและด่านตงซิน ในช่วงฤดูกาลผลไม้ 24 ชั่วโมง และเปิดช่องทาง green lane ตรวจสินค้าผลไม้ทั้งให้จีนเพิ่มเจ้าหน้าที่การดำเนินงานศุลกากรและการตรวจโรค

3.พิจารณาเพิ่มการอนุญาตจำนวนรถบรรทุกให้ผ่านด่านเส้นทาง R3A (ด่านเชียงของ (ไทย)-ด่านห้วยทราย (ลาว)-ด่านบ่อเต็น (ลาว)-ด่านโมฮาน (จีน) เพราะจากการตรวจเข้มและรัดกุมป้องกันโควิด-19 อนุญาตผ่านได้เพียงวันละ 100-150 คัน และ 4.เร่งผลักดันการเปิดด่านระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านอีกทาง

จุรินทร์นั่งหัวโต๊ะถกปัญหาผลไม้

วันที่ 23 มี.ค.2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาผลไม้ปี 2565 และการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ซึ่งเดิมมีมาตรการดูแลผลไม้ปี 2565 ล่วงหน้าทั้งระบบ โดยกำหนดมาตรการเชิงรุก 17 มาตรการที่จะนำมารองรับผลผลิตผลไม้ปี 2565 ที่คาดว่าจะมี3.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8% ได้แก่

1.เร่งรัดตรวจและรับรอง GAPมีเป้าหมายปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง 2.ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้ง กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท 80,000 ตัน

3.เสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออก โดยช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท 60,000 ตัน 4.ก.พาณิชย์และก.เกษตรฯ สนับสนุนให้มีการใช้ พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผลไม้ โดยสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไร มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฎหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เม.ย. 2565 6.ช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค 3 แสนกล่อง 7.ก.พาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบายไปรับซื้อผลไม้ และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในปี 2565 ที่ 15,000 ตัน

8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ 1,500 ตัน เป็น 5,000 ตันปี 2565

และ 9.ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ โครงการThai Fruits GoldenMonths ในตลาดจีน 12 เมือง 10.การเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซีย เป็นต้น 11.จัดงานแสดงสินค้า THAIFEX-Anuga Asia ส่งเสริมผลไม้ไทยระดับนานาชาติ เดือน พ.ค. 12.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย 5 ภาษา

13.การอบรมให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการค้าออนไลน์ และจะเพิ่มเติมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นให้ด้วย ตั้งเป้าอย่างน้อย 1,000 ราย 14.มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้ดำเนินการเก็บผลไม้และส่งเสริมการขายผลไม้

15.ในบางช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน ให้ กอ.รมน.ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้ 16.ก.พาณิชย์จะสั่งการให้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ และ

17.ก.พาณิชย์และจังหวัดจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ และได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ