“ทุเรียน” ตะวันออกลุ้นวืดแสนล้าน รัฐบาลเมินเจรจา “ทางรอด”

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วัน ผลผลิต “ทุเรียน” ในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยองจะเริ่มทยอยออกมา และจะออกมากสุดช่วงเดือนพฤษภาคม

ผลผลิตทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปขายยังตลาดจีน และได้ราคาดี สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำกว่า “แสนล้านบาทต่อปี”

ยิ่งปีนี้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) บอกว่า ผลผลิตทุเรียนจะมีมากถึง 740,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 240,000 ตัน ซึ่งน่าจะเป็นข่าวดี มีสินค้าขายเพิ่ม เม็ดเงินรายได้มหาศาลรออยู่ข้างหน้า

แต่ในความเป็นจริงปีนี้ทั้งเกษตรกรชาวสวน และผู้ส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกกำลังกังวลอย่างหนัก เพราะหวั่นเกรงปัญหาใหญ่เบื้องหน้า ! จากกำไรอาจพลิกเป็นวิกฤตเสียหายหนัก !

เพราะหลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลกลางจีนประกาศใช้นโยบายควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศให้เป็นศูนย์ หรือ zero tolerance โดยใช้วิธี RT-PCR ตรวจหาเชื้อโควิดกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว กว่าผลตรวจจะออกใช้เวลาหลายชั่วโมง

ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 มีรถบรรทุกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ไปจอดรอติดที่ด่านทางเรือ 14-15 วัน หนักสุดด่านทางบก 4 ด่าน ได้แก่ โหย่วอี้กวน ตงซิน รถไฟผิงเสียง และโมฮัน มีรถติดถึง 4,000-5,000 คัน ที่ผ่านมามีรถขน “ลำไย” และ “ทุเรียน” จากภาคใต้ ต้องจอดรอนานสุดเป็นเดือนมาแล้ว ทำให้ลำไย ทุเรียน เน่าเสียหาย ขาดทุนกันมาตลอดช่วงปลายปี 2564

ที่สำคัญหากจีนตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิดในตู้สินค้าใด ตู้สินค้านั้นจะถูกทำลาย และผู้ส่งออกรายนั้นอาจจะถูกยึดใบอนุญาตนำเข้าและถูกตัดหมายเลข DOA ที่ขึ้นทะเบียนส่งออกกับจีน

หลังจากนั้นจีนจะ “ปิดด่านต่อ” โดยไม่แจ้งกำหนดการเปิดด่านที่แน่นอน จีนจะปิด ๆ เปิด ๆ ด่านเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ส่งออกไทยหวังว่า หลังจบกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565 จีนจะผ่อนปรนในการนำเข้าสินค้า แต่ความจริงจีนยังเข้มงวดหนักเช่นเดิม

ก่อนหน้าที่จีนจะเข้มงวดเรื่องโควิด-19 เป็นศูนย์ จีนออกมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตผลไม้ของไทย คุมเรื่องศัตรูพืช สารพิษตกค้าง การติดเชื้อปนเปื้อนจะถูกระงับการส่งออก โดยขอมาตรวจโรงคัดบรรจุหรือล้ง ทุก 2 สัปดาห์ หากไม่ผ่านจะถูกระงับการส่งออกทันที ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการส่งออกสินค้าไปประเทศจีนอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาผู้ส่งออกผลไม้และหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันออก พยายามดิ้นรนหาทางออก โดยเร่งทำมาตรการ zero COVID เช่นเดียวกันจีนจะมีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสก่อนส่งออก

และอยากขอให้จีนเปิดช่อง green lane ทางบก ทางน้ำให้สินค้าไทยผ่านได้เร็วขึ้น รวมถึงขอให้จีนเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ภายในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2565 จากที่จีนบอกจะเปิดให้ขนส่งได้กลางปี 2565

เพราะเกรงว่าช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกมากเดือนพฤษภาคม จะมีรถบรรทุกส่งออกไปจีนเฉลี่ยวันละ 1,000 ตู้/วัน หากรถไปติดหน้าด่านนาน ทุเรียนไทยจะเสียหายมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและข้อเรียกร้องทั้งหมดได้แจ้งให้คนระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์รับทราบมาตั้งแต่ปลายปี 2564

แต่ดูเหมือนไม่มีสัญญาณความคืบหน้าใด ๆ ทั้งที่ทุเรียนกำลังจะสุกอีกไม่กี่วัน มูลค่าทุเรียนที่จะสร้างรายได้กว่า 100,000 ล้านบาทในปีนี้ อาจจะกลายเป็นสูญเงินแสนล้านบาทไปในพริบตา…“ทางรอดเดียวรอวัดใจ”ผู้นำรัฐบาลไทยต้องเร่งไปเจรจากับรัฐบาลจีน