ซาอุดีอาระเบียตรวจยึด ยาบ้าลอตใหญ่ 47 ล้านเม็ด ซุกมากับแป้ง

ยาบ้าลอตใหญ่
CNN

ยาบ้าลอตใหญ่ 47 ล้านเม็ดซุกมากับสินค้าแป้ง ซาอุดีอาระเบียตรวจยึดได้

วันที่ 2 กันยายน 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียยึดยาบ้าลอตใหญ่ 47 ล้านเม็ดที่ซุกไว้ในการขนส่งแป้ง นับเป็นปฏิบัติการตรวจจับการลักลอบขนยาเสพติดครั้งใหญ่ที่สุดภายในครั้งเดียว

กระทรวงกิจการภายในประเทศ ซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์ว่า ยึดยาบ้าได้ที่โกดังหลังจากเดินทางมาถึงท่าเรือในกรุงริยาด แต่ไม่ได้เปิดเผยชื่อยาเสพติด หรือที่มาว่ามาจากที่ใด

โฆษกสำนักงานควบคุมยาเสพติดกล่าวว่าแกะรอยเส้นทางเดินเรือและบุกเข้าไปในโกดัง พร้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยลักลอบขนยาเสพติดได้ 8 คน เป็นชาวซีเรีย 6 คนและชาวปากีสถาน 2 คน โดยตั้งข้อหาลักลอบขนยาเสพติด

ผู้ต้องสงสัยจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย และส่งตัวไปให้อัยการ

ก่อนหน้านี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ระบุว่ารายงานการยึดยาบ้าในประเทศตะวันออกกลางมักมียาเสพติดที่ติดโลโก้ “Captagon” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของผลิตภัณฑ์ยาที่มีสารประกอบ phenethylline hydrochloride

ยาบ้าลอตใหญ่

ศูนย์เฝ้าระวังยาเสพติดและเสพยายุโรปรายงานว่าแม้ว่ายาแคปเทกอน – Captagon ไม่ได้ผลิตขึ้นอย่างผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่ยาเสพติดที่ติดโลโก้ “Captagon” มักจะยึดได้ในตะวันออกกลาง ซึ่งยาแคปเทกอนปลอมจะเป็นยาบ้าหรือสารเคมีชนิดอื่น

ทั้งนี้ ตามกฎหมายของซาอุดีอาระเบีย บทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาลักลอบนำเข้ายาเสพติด คือประหารชีวิต

ซาอุฯ กลายเป็นแหล่งลักลอบหลัก

อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นต่อมาของ ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นเมืองหลวงของยาเสพติดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งทางการซาอุฯ พยายามยกระดับการปราบปราม

คอลัมนิสต์ในท้องถิ่นระบุว่า “ยาเสพติดที่ขนส่งเข้ามาในราชอาณาจักรของเราคือการเปิดสงครามสู้รบกับเรา และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสงครามอื่นใด”

การจับกุมผู้ลักลอบค้ายารายย่อยเมื่อเดือนก.พ.2022

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่ซาอุฯ กลายเป็นแหล่งลักลอบขนส่งยาเสพติดของตะวันออกกลางเพราะมีความต้องการสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ลักลอบจากซีเรียและเลบานอน การจับกุมและยึดยาบ้า 47 ล้านเม็ด เมื่อวันพุธที่ 31 ส.ค. ตอกย้ำถึงสถานการณ์นี้

ยาเสพติดเริ่มปรากฏในราชอาณาจักรซาอุฯ ราว 15 ปีก่อน และเริ่มกลายเป็นปัญหาน่าวิตกเมื่อ 5 ปีมานี้

แวนดา เฟลบับ บราวน์ แห่งสถาบันบรูกกิงส์ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐ เขียนการวิเคราะห์ว่า  เหตุผลหนึ่งมาจากยาแคปเทกอน ที่ทะลักเข้ามาจากซีเรีย ซึ่งที่นั่นผลิตกันเอิกเกริกในโรงงานเคมีที่ตกทอดมาจากรัฐบาลอัสซาด และได้รับเงินทุนมาจากเหล่าพ่อค้ายาเสพติดและพวกแวดล้อมใกล้ชิดกับรัฐบาล

จากรายงาน International Addiction Review ยาแคปเทกอนขายโดยทั่วไปราคาเม็ดละ 10-25 ดอลลาร์ หรือราว 370-920 บาท หากคำนวณเทียบกับกับจำนวนยาบ้าลอตใหญ่ 47 ล้านเม็ดที่ยึดได้ จะเป็นราคาที่ขายตามท้องถนนราว 1,100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 หมื่นล้านบาท

แคโรลีน โรส นักวิเคราะห์ของสถาบันนิวไลนส์ กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งศึกษาการค้ายาแคปเทกอน กล่าวว่า ยาชนิดนี้มีองค์ประกอบคล้ายกับยาบ้า ใช้สำหรับลดความตึงเครียด และยังพบว่าคนงานต่างด้าวในบรรดาชาติร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซียอย่างซาอุดีอาระเบีย เพื่อช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น 

…..