สิทธิมนุษยชนเผยประท้วงอิหร่าน ดับแล้ว 50 ราย ผู้หญิงใน 80 เมืองลุกฮือ

สิทธิมนุษยชนเผยประท้วงอิหร่าน ดับแล้ว 50 ผู้หญิงใน 80 เมืองลุกฮือ
REUTERS/Bing Guan

มีผู้เสียชีวิต 50 รายจากการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรงในอิหร่าน หลังหญิงอายุ 22 ปี เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัว เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา 

วันที่ 24 กันยายน 2565 เอ็นดีทีวีรายงานวา การประท้วงปะทุขึ้นในอิหร่านเป็นคืนที่ 8 ติดต่อกัน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายหลังการเสียชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุม

องค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (IHR) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงออสโล ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากกองกำลังความมั่นคงอย่างน้อย 50 รายในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ทางการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 17 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคง 5 ราย

ความรุนแรงบนท้องถนน ซึ่ง IHR ระบุว่าแพร่กระจายไปยัง 80 เมือง เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของ “มาห์ซา อามินี” หญิงชาวเคิร์ดอายุ 22 ปี ที่นอนโคม่าเป็นเวลา 3 วัน หลังถูกตำรวจสั่งคุมขังในกรุงเตหะราน

มีการเผยแพร่คลิปบนโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากรวมตัวกันในย่านต่าง ๆ ของกรุงเตหะราน ไม่กี่ชั่วโมงหลังการชุมนุมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสลายไป

ผู้ประท้วงบางคน เผชิญหน้ากับตำรวจปราบจราจลติดอาวุธ หรือกองทหารรักษาการณ์

อิหร่านได้กำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้ประท้วงรวมตัวกัน และเพื่อไม่ให้ภาพต่าง ๆ หลุดไปยังโลกภายนอก

“กลัวคนของตัวเอง”

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯประกาศว่ากำลังผ่อนปรนข้อจำกัดการส่งออกให้อิหร่านเพื่อขยายบริการอินเทอร์เน็ต ไม่กี่วันหลังจาก “สเปซเอ็กซ์” ของ “อีลอน มัสก์” ระบุว่าจะพยายามยกเว้นการคว่ำบาตรเพื่อให้บริการดาวเทียมสตาร์ลิงก์ในอิหร่าน

“มาตรการใหม่นี้จะช่วยต่อต้านความพยายามของรัฐบาลอิหร่านในการสอดส่องและเซ็นเซอร์พลเมืองของตน” แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกล่าว และว่า “เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลอิหร่านกลัวประชาชนของตัวเอง”

เมื่อวันศุกร์ ผู้คนหลายพันคนออกไปตามท้องถนนเพื่อสนับสนุนการสวมฮิญาบ ในการชุมนุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเตหะรานและเมืองต่าง ๆ โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และผู้หญิงที่แต่งกายด้วยชุดดำ

ปะทะรุนแรง

อามินีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน หรือ 3 วันหลังจากเธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ภายหลังถูกจับกุมโดยตำรวจศีลธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้ระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวดสำหรับผู้หญิงในอิหร่าน

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า เธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะขณะถูกควบคุมตัว แต่ทางการอิหร่านได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ พร้อมกับเปิดการสอบสวน

หลังการประกาศเสียชีวิต การประท้วงที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นก็ปะทุขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น อิสฟาฮาน มาชาด ชีราซ และทาบริซ รวมถึงเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ

ในความรุนแรงล่าสุด ผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังความมั่นคงที่เมืองโบกัน เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์

ส่วนที่เมืองบาโบล ผู้ประท้วงจุดไฟเผาป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่มีรูปผู้นำสูงสุดของอิหร่าน “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” ตามที่ปรากฏในคลิปที่แชร์ทางออนไลน์

ผู้ประท้วงหญิงบางคนถอดฮิญาบออก บ้างก็ตัดผมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน ก่อนเผยแพร่คลิปทางโซเชียลมีเดีย

ผู้ประท้วงขว้างปาหินใส่กองกำลังรักษาความมั่นคง จุดไฟเผารถตำรวจ และตะโกนต่อต้านรัฐบาล ตามรายงานของสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของรัฐบาล

ศูนย์สิทธิมนุษยชนในอิหร่าน (CHRI) ที่ตั้งในนครนิวยอร์ก รายงานว่า รัฐบาลอิหร่านตอบโต้ด้วยกระสุนจริงและแก๊สน้ำตา ตามวิดีโอที่แชร์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประท้วงมีเลือดออกมาก

“อิบราฮิม ไรซี” ประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวในการแถลงข่าวที่นครนิวยอร์ก ซึ่งเขาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติเมื่อวันพฤหัสบดีว่า “เราต้องแยกความแตกต่างระหว่างผู้ประท้วงกับการก่อกวน”

ความไม่สงบเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อ่อนไหวเป็นพิเศษสำหรับผู้นำรายนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจอิหร่านยังคงติดหล่มอยู่ในวิกฤต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่พุ่งเป้าไปที่โครงการนิวเคลียร์