ตำรวจศีลธรรม คือใคร ทำไมผู้หญิงอิหร่านลุกฮือขึ้นประท้วง

การเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ในขณะที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อิหร่านซึ่งรู้จักกันในนาม “ตำรวจศีลธรรม” ได้จุดกระแสโกรธแค้นและนำไปสู่การประท้วงของผู้หญิงที่พากันจุดไฟเผาผ้าคลุมศีรษะเป็นสัญลักษณ์การขัดขืนข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของสตรีที่เคร่งครัดของทางการอิหร่าน

“กัชตีเอร์ชาด” (Gasht-e Ershad) ซึ่งมีความหมายว่า “หน่วยลาดตระเวนให้คำแนะนำ” เป็นตำรวจหน่วยพิเศษผู้คอยตรวจตราให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักศีลธรรมจรรยาของศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลที่มองว่าแต่งกาย “ไม่เหมาะสม”

ภายใต้กฎหมายอิหร่าน ซึ่งมีรากฐานมาจากการตีความกฎหมายอิสลามของประเทศ ผู้หญิงจะต้องสวมผ้าคลุมศีรษะที่เรียกว่า “ฮิญาบ” เพื่อคลุมผม รวมทั้งต้องสวมชุดที่ไม่รัดรูป

น.ส.อามินี ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎการสวมฮิญาบเพราะมีเส้นผมโผล่ออกมาให้เห็นนอกผ้าคลุมศีรษะ และได้ถูก “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. เธอตกอยู่ในอาการโคม่าหลังจากล้มหมดสติที่ศูนย์ควบคุม แล้วก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในอีก 3 วันต่อมา

ตำรวจศีลธรรมปฏิเสธรายงานที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีศีรษะเธอ แล้วจับศีรษะโขกกับรถคันหนึ่งของตำรวจ

Mahsa Amini

ที่มาของภาพ, Mahsa Amini family

ในการสัมภาษณ์พิเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมคนหนึ่งยอมพูดคุยกับทีมข่าวบีบีซีแบบไม่เปิดเผยนาม เกี่ยวกับงานที่เขาทำในหน่วยงานนี้

“พวกเขาบอกว่าเหตุผลที่พวกเราทำงานในหน่วยตำรวจศีลธรรมคือเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิง” เขากล่าว “เพราะหากพวกเธอแต่งกายไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นการยั่วยุให้ผู้ชายทำอันตรายต่อพวกเธอ”

เจ้าหน้าที่รายนี้อธิบายว่า ตำรวจศีลธรรมทำงานกันเป็นทีม ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 6 คน แบ่งเป็นชาย 4 คน และหญิง 2 คน แล้วออกปฏิบัติงานในบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน

“มันประหลาด เพราะถ้าเราแค่จะให้คำแนะนำแก่ผู้คน ทำไมพวกเราถึงต้องเลือกบริเวณที่มีคนคับคั่ง ซึ่งหมายความว่าเราอาจต้องจับกุมคนเพิ่มมากขึ้นด้วย”

“มันเหมือนกับพวกเรากำลังออกล่าเหยื่อ” เขาเล่า

เจ้าหน้าที่รายนี้เผยต่อว่า เขาจะถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หากเขาไม่สามารถจับคนทำผิดข้อบังคับเรื่องการแต่งกายได้มากพอ และตัวเขาเองพบว่าเป็นเรื่องลำบากทีเดียวเวลาที่ผู้คนขัดขืนการจับกุม

“พวกเขาคาดหวังว่าเราจะบังคับให้ผู้ถูกจับกุมขึ้นรถตู้ คุณรู้ไหมว่าผมต้องทำเรื่องนี้ทั้งน้ำตามาแล้วกี่ครั้ง”

“ผมอยากบอกพวกเขาว่าผมไม่ใช่พวกเดียวกับตำรวจศีลธรรม เราส่วนใหญ่เป็นทหารธรรมดาที่ผ่านการฝึกทหารตามที่รัฐกำหนด ผมรู้สึกแย่มาก ๆ”

File photo showing Iranian morality policewomen speaking to a woman about her dress in Tehran, Iran (22 April 2007)

ที่มาของภาพ, Getty Images

ข้อบังคับหลังการปฏิวัติอิสลาม

หลังจากการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ไม่นาน ทางการอิหร่านก็เริ่ม “การต่อสู้” กับ “การสวมฮิญาบแบบผิด ๆ” หรือการแต่งกายไม่เหมาะสมตามหลักศาสนา โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ผู้หญิงแต่งกายเรียบร้อยขึ้น

แม้สตรีอิหร่านหลายคนจะนิยมแต่งกายตามหลักศาสนา แต่ภาพสตรีสวมกระโปรงสั้น และเปิดเผยเส้นผมในที่สาธารณะยังคงมีให้เห็นทั่วไปตามท้องถนนในกรุงเตหะรานในยุคก่อนการโค่นล้มอำนาจพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์ผู้ฝักใฝ่ชาติตะวันตก

ขณะที่เจ้าหญิงเฟาซียะห์แห่งอียิปต์ พระมเหสีของพระองค์ ซึ่งมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบสตรีตะวันตก ก็ได้รับการชื่นชมว่าเป็นตัวอย่างของผู้หญิงยุคใหม่ในสมัยนั้น

Women protesting in Iran in March 1979 with their hair uncovered

ที่มาของภาพ, Getty Images

ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน กฎหมายปกป้องสิทธิสตรีที่เคยมีในสมัยพระเจ้าชาห์ก็ถูกยกเลิกลง

เมห์รานกีซ คาร์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนวัย 78 ปี ที่ช่วยจัดการประท้วงการบังคับสวมฮิญาบครั้งแรกเล่าว่า “มันไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน ทว่าเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป”

“หลังการปฏิวัติอิสลาม มีผู้คนทั้งชายหญิงออกมาแจกจ่ายผ้าคลุมศีรษะที่อยู่ในกระดาษห่อของขวัญให้แก่บรรดาสตรีตามท้องถนน” เธอเล่า

A group of women protest against wearing the Islamic veil, while waving their veils in the air outside the office of the Prime Minister, Tehran, Iran, 6th July 1980

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในวันที่ 7 มี.ค. 1979 อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามมีคำตัดสินชี้ขาดให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมผ้าคลุมศีรษะในที่ทำงาน และเขามองว่าผู้หญิงที่ไม่คลุมศีรษะคือคนที่ร่างกาย “เปลือยเปล่า”

นางคาร์ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี บอกว่า “ถ้อยคำดังกล่าวทำให้นักปฏิวัติหลายคนยึดถือเป็นคำสั่งที่บังคับให้สตรีต้องสวมฮิญาบ…หลายคนคิดว่าเรื่องนี้จะมีผลบังคับใช้ในทันที ดังนั้นผู้หญิงหลายคนจึงเริ่มขัดขืน”

กระแสต่อต้านเกิดขึ้นในทันที มีประชาชนกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพากันออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนกรุงเตหะรานในวันถัดมา ซึ่งตรงกับวันสตรีสากลพอดี

Demonstrations following death of Mahsa Amini in Tehran

ที่มาของภาพ, Getty Images

นับแต่ปี 1981 มีกฎหมายกำหนดให้ผู้หญิงและเด็กหญิงต้องสวมเสื้อผ้าที่เรียบร้อยตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความถึงการสวม “ชาดอร์” หรือชุดคลุมเต็มตัวที่ปิดบังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

“แต่การต่อสู้การบังคับสวมฮิญาบยังดำเนินต่อไปในระดับบุคคล พวกเราใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการใส่ผ้าคลุมหัว หรือพยายามไม่ปกปิดผมมิดชิด” นางคาร์เล่า

“ทุกครั้งที่พวกเราถูกเจ้าหน้าที่เรียก เราจะขัดขืน”

ในปี 1983 รัฐสภาได้ตัดสินให้ผู้หญิงที่ไม่คลุมเส้นผมในที่สาธารณะต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน 74 ครั้ง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการเพิ่มโทษจำคุกสูงสุด 60 วันด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการเผชิญความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมายนี้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะที่ผู้หญิงทุกวัยต่างพยายามท้าทายข้อกำหนดในที่สาธารณะด้วยการสวมเสื้อผ้ารัดรูป สวมเสื้อคลุมความยาวระดับต้นขา สวมผ้าคลุมศีรษะสีสันสดใสโดยที่พยายามเปิดเผยเส้นผมให้ได้มากที่สุด

การจัดการที่รุนแรง

ระดับความเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดมีความแตกต่างกันไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับว่าใครคือประธานาธิบดี

Woman holding hijab above her head

ที่มาของภาพ, BBC Persian

1px transparent line

ตอนที่นายมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งพยายามหาเสียงในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2004 ได้แสดงแนวคิดหัวก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ครั้งหนึ่งว่า “ผู้คนมีรสนิยมที่แตกต่างกันไป และเราต้องรับใช้พวกเขาเหมือนกัน”

ทว่าเมื่อเขาชนะการเลือกตั้งในปีต่อมา ก็มีการจัดตั้ง “กัชตีเอร์ชาด” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ จากที่ก่อนหน้านี้การกำกับดูแลเรื่องการแต่งกายของประชาชนเป็นงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหน่วยอื่น

An Iranian morality policewoman walks past police vehicles ahead of a crackdown on women violating Iran's Islamic dress code in Tehran, Iran (23 July 2007)

ที่มาของภาพ, AFP

ตำรวจศีลธรรมมักถูกสาธารณชนวิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจจัดการอย่างรุนแรง โดยผู้หญิงที่ถูกมองว่าแต่งกายไม่เหมาะสมจะถูกควบคุมตัวไว้จนกว่าจะมีญาติมาให้การรับรองว่าพวกเธอจะไม่ทำผิดกฎอีก

“ฉันถูกจับพร้อมกับลูกสาว ตอนที่เจ้าหน้าที่เรียกตรวจ เพราะลิปสติกของพวกเรา” หญิงคนหนึ่งในเมืองอิสฟาฮาน ทางภาคกลาง เล่าให้บีบีซีฟังถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัว

“พวกเขาพาเราไปที่สถานีตำรวจ แล้วขอให้สามีฉันมา แล้วเซ็นเอกสารที่รับรองว่าเขาจะไม่ปล่อยให้พวกเราออกจากบ้านโดยไม่สามฮิญาบ”

Iranian newspapers on sale in Tehran show photographs of Mahsa Amini on 18 September 2022

ที่มาของภาพ, WANA NEWS AGENCY

ส่วนหญิงอีกคนเล่าให้บีบีซีฟังว่า เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งบอกเธอว่า รองเท้าบูตของฉันดู “ยั่วยวนเกินไป” สำหรับผู้ชาย และจับกุมเธอ

“ฉันต้องโทรหาสามี ให้เขาเอารองเท้าคู่อื่นมาให้ฉัน” เธอเล่า

“จากนั้นฉันก็เซ็นเอกสารยอมรับสารภาพว่าฉันแต่งตัวไม่เหมาะสม และตอนนี้ฉันก็มีประวัติอาชญากรรมติดตัว”

ผู้หญิงคนอื่นเล่าให้บีบีซีฟังถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ถูกกระทำจากตำรวจศีลธรรม เช่น การทุบตี และการลงโทษที่โหดร้ายและแปลกประหลาด โดยหญิงคนหนึ่งบอกว่า ตำรวจศีลธรรมขู่จะจับแมลงสาบใส่เธอในระหว่างที่เธอถูกจับกุม

การปราบปรามครั้งใหม่

Woman burning a hijab

ที่มาของภาพ, BBC Persian

1px transparent line

ข้อบังคับที่เข้มงวดทำให้มีการจับกุมผู้ละเมิดกฎหมายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้หญิงหันมาโพสต์ภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอของตัวเองไม่สวมผ้าคลุมศีรษะกันมากขึ้นทางโซเชียลมีเดีย และกระแสนี้ก็เพิ่มมากขึ้นหลังการเสียชีวิตของ น.ส.อามินี

ผู้หญิงหลายคนเริ่มถอดผ้าคลุมศีรษะ แล้วเอามาโบกไปมาในอากาศที่งานศพของ น.ส.อามินี ในเมืองซาเกซ ทางภาคตะวันตกของประเทศ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

หลายวันต่อมา ผู้หญิงจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศ บางคนเอาฮิญาบมาเผาไฟ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้ชายที่มาร่วมการประท้วงด้วย

1px transparent line

มาซีห์ อาลิเนจาด ผู้สื่อข่าวและนักกิจกรรมซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ตอนที่พวกเขาทำแบบนี้ มันทำให้ฉันคิดถึงห้วงเวลาที่ผู้คนเริ่มโค่นกำแพงเบอร์ลิน…”

“สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกสะเทือนใจและเกิดความหวังคือเรื่องที่ว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้ตามลำพัง ตอนนี้ผู้ชายต่างออกมายืนหยัดเคียงข้างผู้หญิง”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว