“ฮ่องกง” เลิกคุมเข้มเดินทาง แต่เศรษฐกิจยังรอฟื้นฟูครั้งใหญ่

ฮ่องกงเลิกคุมเข้มเดินทาง

สถานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกของ “ฮ่องกง” ได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บังคับใช้มากว่า 2 ปีครึ่ง กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินธุรกิจบนเกาะแห่งนี้สูญเสียความสามารถการแข่งขันกับฮับการเงินอื่น ๆ ที่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่า รวมถึงปัญหาการเข้ามากระชับอำนาจในฮ่องกงของรัฐบาลจีน

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า “ฮ่องกง” ได้ยกเลิกมาตรการกักตัวในโรงแรมสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ถูกกดดันอย่างหนักจากชุมชนธุรกิจระหว่างประเทศและท้องถิ่น ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวกำลังทำลายเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายให้กับสถานะศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำ

“จอห์น ลี” ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ระบุว่า “เราต้องยอมให้มีการเชื่อมต่อกับส่วนอื่น ๆ ของโลก เพื่อที่จะได้มีแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดความไม่สะดวกของผู้เดินทาง”

โดยนับจากวันที่ 26 ก.ย. ผู้เดินทางเข้าสู่ฮ่องกงต้องอยู่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังทางการแพทย์เป็นเวลา 3 วัน และเฝ้าระวังด้วยตนเองอีก 4 วัน โดยไม่ต้องการกักตัวในโรงแรม

ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงได้เป็นรับแรงกดดันอย่างหนักจากนโยบาย “ซีโร่โควิด” ของรัฐบาลจีน แม้ว่าจะมีระบบการบริหารแยกส่วนกัน แต่ข้อจำกัดเข้มงวดที่ฮ่องกงเคยบังคับใช้ เช่น การกักตัวในโรงแรมด้วยระยะเวลานานถึง 21 วันในช่วงการระบาดรุนแรง

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับสถานะฮับการเงินของฮ่องกง โดยเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานผลการจัดอันดับ “ดัชนีศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก” (Global Financial Centres Index) ล่าสุด เผยแพร่ในเดือน ก.ย. 2022 โดยสถานะศูนย์กลางทางการเงินของ “ฮ่องกง” จัดอยู่อันดับ 4 จากทั้งหมด 119 แห่งทั่วโลก ลดลงจากการจัดอันดับครั้งที่แล้ว ที่ฮ่องกงอยู่อันดับ 3 ที่น่าสนใจคือ “สิงคโปร์” ทะยานจากอันดับ6 แซงหน้าฮ่องกงขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ตามหลัง นิวยอร์กและลอนดอน

มาตรการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการบินของฮ่องกง “วิลลี่ วอลช์” ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ชี้ว่า ฮ่องกงได้สูญเสียสถานะศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ซึ่งส่งผล “คาเธ่ย์แปซิฟิค” สายการบินยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ก่อนหน้านี้ ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงเคยเป็นหนึ่งในสนามบินที่มีผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดในโลก แต่ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา กลับมีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินดังกล่าวเพียง 591,000 คน เทียบกับ 7.3 ล้านคน ที่ผ่านท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงีในช่วงเวลาเดียวกัน

เศรษฐกิจของฮ่องกงก็ยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ และแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2022 ลงมาอยู่ที่ -0.5% ถึง 0.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 1% ถึง 2%

เศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสของฮ่องกง รวมถึงแรงดึงดูดจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ยังทำให้ฮ่องกงต้องเผชิญคลื่นประชากรอพยพออก จากปี 2020 ถึงขณะนี้มีผู้ย้ายออกจากฮ่องกงแล้วกว่า 2 แสนคน


นับว่าฮ่องกงยังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รอให้จัดการและฟื้นฟูครั้งใหญ่