โมเดล “ยูนิคอร์น” ถึงจุดเปลี่ยน ? เมื่อ “กำไร” สำคัญกว่าการเติบโต

ยูนิคอร์น

สตาร์ตอัพทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านเงินทุน หลังนักลงทุนเริ่มระมัดระวังเกี่ยวกับสภาวะของตลาดท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก มูลค่าลดลงอย่างหนัก จากภาวะตลาดหุ้นผันผวนท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ ยิ่งทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าลงทุนในสตาร์ตอัพเหือดหาย ขณะที่เดิมสตาร์ตอัพส่วนใหญ่เน้นการระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อมาขยายกิจการ วันนี้อาจถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับความสามารถในการทำกำไร เพื่อหาเงินมาใช้ดำเนินธุรกิจมากขึ้น

“มาซาโยชิ ซัน” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ SoftBank Group บริษัทด้านการลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2022 ขาดทุน 23,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบุว่าสถานการณ์ขณะนี้ด้วยเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเผชิญกับมูลค่าบริษัทที่ลดลง ส่วน “สตาร์ตอัพ” ที่อยู่นอกตลาดคาดว่าจะต้องเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ยาวนานยิ่งกว่า

โดยที่ผ่านมายูนิคอร์นหลายรายมูลค่าลดลงอย่างหนัก รวมทั้ง “Klarna” สตาร์ตอัพผู้ให้บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (BNPL) สัญชาติสวีเดน ซึ่งเพิ่งเปิดระดมทุนรอบใหม่เมื่อ ก.ค. 2022 มูลค่าบริษัทล่าสุดอยู่ที่ 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงถึง 85% จาก 45,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021

รวมถึง “ไบแดนซ์” เจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok มูลค่าอยู่ที่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 25% จากปี 2021

ด้านนักลงทุน nontraditional investor ซึ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพนอกตลาด ก็ได้รับผลกระทบจากมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัพที่ตกต่ำ โดยเฉพาะ SoftBank ที่แบกภาระขาดทุนมหาศาล ต้องขายทิ้งบริษัทที่ไม่ทำกำไร โดยเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ขายหุ้นทั้งหมดใน Sinch แพลตฟอร์มระบบคลาวด์ของสวีเดนที่เคยเฟื่องฟูในช่วงโควิด-19 ระบาดพร้อมเลิกจ้างพนักงานอย่างน้อย 150 คน

รายงานของ “CB Insights” บริษัทข้อมูลและวิเคราะห์ตลาดพบว่า ในไตรมาส 2/2022 มียูนิคอร์นเกิดใหม่เพียง 87 แห่ง ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 147 แห่งในไตรมาส 2/2021 และคาดว่าในไตรมาส 3/2022 จะมีบริษัทเพียง 27 แห่งเท่านั้นที่ก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น

ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินลงทุนในสตาร์ตอัพที่ลดลง โดยบริษัทวิจัยตลาดทุน PitchBook เปิดข้อมูลเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพของ nontraditional investor ในสหรัฐช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ราว 107,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงครึ่งของเงินลงทุนทั้งปี 2021 ที่สูงถึง 272,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เซบาสเตียน ซีเมียตโคว์สกี” ซีอีโอของ Klarna ระบุว่า “ช่วง 2-3 ปีที่แล้ว การเติบโตของบริษัทสตาร์ตอัพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการเห็นความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น” ซึ่ง Klarna เองก็ได้พยายามปรับโครงสร้างเพื่อทำกำไร ตั้งแต่การลดจำนวนพนักงานไปจนถึงเพิ่มความเข้มงวดด้านการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้บริษัทยูนิคอร์นเสียหายเสมอไป เพราะหลายบริษัทก็เติบโตได้ในช่วงวิกฤต เช่น บริษัท Meta เจ้าของเฟซบุ๊กก็สามารถเติบโตขึ้นมาได้หลังฟองสบู่ดอตคอมแตกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 รวมถึงวิกฤตการเงินของสหรัฐในปี 2008 ก็นำมาสู่การแจ้งเกิดของ Airbnb

สถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นบททดสอบสำหรับบริษัทสตาร์ตอัพและยูนิคอร์นในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตในระยะยาว กับการเพิ่มความสามารถการกำไรในระยะสั้น ซึ่งบริษัทแข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดต่อไปได้