ส่องดาวรุ่งสตาร์ตอัพไทย ใครจะเป็นยูนิคอร์นรายต่อไป

ยูนิคอน

วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 2 ปี ผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่บรรดาสตาร์ตอัพทั้งหลาย ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์หาตัวจริงสำหรับรายเดิม และดาวรุ่งดวงใหม่ เพราะในทุกวิกฤตมักมาพร้อมโอกาสใหม่ ๆ เช่นกัน ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมามีสตาร์ตอัพไทยสามารถกลายร่างขึ้นมาเป็น “ยูนิคอร์น”ได้ถึง 3 ราย ได้แก่ แฟลช เอ็กซ์เพรส, แอสเซนด์ มันนี่ และบิทคับ

“อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” อุปนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Trade Association) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา แม้วงการสตาร์ตอัพไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ แต่ก็ยังมีกลุ่มสตาร์ตอัพที่ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ เนื่องจากโควิดส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และคาดว่าปีนี้สตาร์ตอัพกลุ่มโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซก็จะยังเติบโตต่อเนื่อง

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ อุปนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Trade Association)

โดยรวมแล้วนอกจากจำนวนสตาร์ตอัพจะไม่ได้หายไป ในหลายเซ็กเตอร์ยังได้เรียนรู้วิธีการปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจเดินต่อได้ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพสายท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่โควิดระลอกแรกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้น

เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพารายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยว ถ้าท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่ สตาร์ตอัพกลุ่มท่องเที่ยวจึงต้องปรับโมเดลธุรกิจและหันมาสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด

“บล็อกเชน-Edtech” มาแรง

“ปีที่ผ่านมากลุ่มสตาร์ตอัพเกิดใหม่มีจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพลดลง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพก็น้อยลงเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของโควิดทำให้บริษัทที่เคยสนับสนุนต้องหันไปโฟกัสธุรกิจหลักของตนเองก่อน ทำให้เม็ดเงินที่เคยมีผ่านโครงการต่าง ๆ ลดลงตามไปด้วย สตาร์ตอัพหลายรายที่มีประสบการณ์จะรู้วิธีสร้างการเติบโตและปรับตัวได้ กลุ่มนี้ยังคงเดินหน้าธุรกิจต่อได้ เช่น สตาร์ตอัพกลุ่มอีเวนต์แพลตฟอร์มที่ปรับตัวมาทำเวอร์ชวลอีเวนต์มากขึ้น เป็นต้น”

สำหรับสตาร์ตอัพดาวรุ่งในปีนี้จะเป็นไปตามเทรนด์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัล และบล็อกเชน ต้องยอมรับว่ามีสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ในกลุ่มนี้เกิดขึ้นหลายราย และสามารถระดมทุนได้ ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ และมีสตาร์ตอัพสายนี้เกิดขึ้นชัดเจน ส่วนสตาร์ตอัพกลุ่มการศึกษา (Edtech) และกลุ่มเฮลท์แคร์ (HealthTech) ก็มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนให้การสนับสนุนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งสำคัญที่ผลักดันให้สตาร์ตอัพกลุ่มนี้เติบโต

“ปีนี้อาจมียูนิคอร์นเกิดใหม่อีก เช่น กลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และบล็อกเชน เนื่องจากเป็นบริการที่สามารถขยายออกไปที่ไหนก็ได้ มีโอกาสเติบโตสูง โมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพกลุ่มนี้ไม่ได้เจาะแค่ตลาดไทย แต่ขยายไปต่างประเทศ เป็นโมเดลระดับโกลบอลอยู่แล้ว”

จับตายูนิคอร์นไทยรายใหม่

ด้าน “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อดีของโควิดคือทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะมีโอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอ ดังจะเห็นการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพไทยระดับยูนิคอร์นในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้จะได้เห็นยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ตัว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเทคสตาร์ตอัพ โลจิสติกส์ ฟินเทค และออนดีมานด์ดีลิเวอรี่

เรืองโรจน์ พูนผล
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)

“กลุ่มที่น่าจะกลายเป็นยูนิคอร์นในปีนี้แน่ ๆ คือ ออนดีมานด์ดีลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซ อีกกลุ่มที่น่าจับตาคือ กลุ่มการศึกษา หรือ Edtech ซึ่งในประเทศไทยสตาร์ตอัพกลุ่มนี้มีรายได้โตขึ้นอย่างมาก บางตัวมูลค่าสูงถึง 300-500 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มเฮลท์เทคด้วย โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในกลุ่มสตาร์ตอัพไทยราว 10,000 ล้านบาท รวมถึงมีบริษัทสตาร์ตอัพบางตัวกำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ก็หวังว่าปีนี้จะมียูนิคอร์นขึ้นอีก 2 ตัว”

ปลดล็อก Capital Gains

รายงานข่าวจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ DCT เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ในการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย หลังจากนายกรัฐมนตรีอนุมัติตามข้อเสนอของสภาดิจิทัลฯ เมื่อปลายปี 2564 เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และคาดว่าจะประกาศใช้กฎหมายได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้

โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวด้วยว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax และแนวทางส่งเสริมดังกล่าวนี้จะสร้างสตาร์ตอัพไทยรายใหม่ได้ถึง 5,000 ราย ในปี 2565 ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT)

ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้เสนอให้มีการจัดโรดโชว์นำโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ไปยังกลุ่มนักลงทุน และกลุ่มสตาร์ตอัพที่เป็นเป้าหมาย รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เกษตร ประมง รวมถึง soft power ด้านภาพยนตร์ กีฬา และ e-Sport พร้อมการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มีที่ปรึกษาในการตอบคำถาม การช่วยประสานงานกับภาครัฐ รวมถึงข้อมูล และคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์ เป็นต้น

“ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งจากนี้ สภาดิจิทัลฯจะเร่งดำเนินการประสานและร่วมทำงานในการออก พ.ร.ฎ.ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ตอัพแก่ผู้ประกอบการไทยให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

“ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา ecosystem ให้แข็งแกร่ง เน้นพัฒนากำลังคนดิจิทัลให้เทียบเท่าระดับสากล ตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่มทักษะขั้นสูงให้ได้ 3.5 ล้านคน ภายในปี 2570”