เบื้องหลัง “ไลน์แมน-วงใน” สิ่งที่สำคัญกว่าสตาร์ตอัพ “ยูนิคอร์น”

ยอด ชินสุภัคกุล
สัมภาษณ์

ไลน์แมน-วงใน” (LINE MAN Wongnai) เพิ่งปิดดีลระดมทุนในรอบซีรีส์ B สำเร็จ (ปลายเดือน ก.ย. 2565) ได้เงินมาอีกเกือบ 1 หมื่นล้านบาท (265 ล้านเหรียญสหรัฐ) นำโดย GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์ และบริษัท LINE Corporation ร่วมกับ BRV Capital Management, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, Bualuang Ventures และ Taiwan Mobile ทำให้ขยับขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลังระดมทุนมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

และยกระดับขึ้นเป็น สตาร์ตอัพ “ยูนิคอร์น” ตัวล่าสุดของไทยไปแล้วเรียบร้อย สำหรับ “วงใน” สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนที่ชอบตระเวนหาร้านอาหารอร่อย ๆ และเห็นว่าในบ้านเรายังไม่มีเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นสำหรับรีวิวร้านอาหารเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนในต่างประเทศ

เร่งเติมคน-เพิ่มบริการใหม่

“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai บอกว่าจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนรอบล่าสุดมาใช้เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจส่งอาหาร ด้วยการขยายทีมวิศวกร และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มทีมงานโดยเฉพาะฝ่ายเทคโนโลยี จากที่มีอยู่แล้วกว่า 300 กว่าคน เป็น 450 คนภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถพัฒนาบริการใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการจากปัจจุบันมีอยู่แล้วกว่า 10 ล้านคน โดย 80% เป็นผู้ใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะขยายฐานผู้ใช้จาก 10 ล้านราย เป็นเท่าไรภายในกี่ปี ขณะที่คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 50 ล้านคน จากประชากรกว่า 70 ล้านเพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อของหรือสั่งอาหารผ่านไลน์ แต่ก็หวังว่าจะมีฐานคนใช้เพิ่มเป็นหลายสิบล้านคนในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 50-60 ปี ที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งอาจยังใช้ไลน์ในส่วนที่เป็นบริการแชต แต่ต่อไปเมื่อพื้นที่บริการครอบคลุมมากขึ้น มีบริการใหม่ ๆ เพิ่มเติม เขาก็อาจจะมาเป็นลูกค้าในบริการใดบริการหนึ่งของเราก็ได้”

LINE MAN Wongnai มีธุรกิจในเครือ 3 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มบริการออนดีมานด์ ภายใต้แบรนด์ LINE MAN ครอบคลุมการส่งอาหาร สินค้า เมสเซนเจอร์ และแท็กซี่ โดยธุรกิจส่งอาหารมีการเติบโตของจำนวนออร์เดอร์ต่อเดือนกว่า 15 เท่า (เทียบ ม.ค. 2563-ส.ค. 2565) ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัด และมีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 700,000 ร้าน ซึ่งมากที่สุดในท้องตลาด

2.กลุ่มโซลูชั่นสำหรับร้านค้าและร้านอาหาร เช่น มี Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายดีลิเวอรี่ ที่มีร้านอาหาร และผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานกว่า 50,000 ร้าน

และ 3.กลุ่มธุรกิจเสริม เช่น ธุรกิจโฆษณาสำหรับร้านอาหาร และธุรกิจบริการทางการเงิน

ปักหมุด “เนชั่นแนลแชมเปี้ยน”

ซีอีโอ LINE MAN Wongnai บอกว่า ไม่เคยเรียกหรือนิยามตนเองว่า เป็น “ซูเปอร์แอป” เพราะมองว่าเป็นวาทะที่ใช้นำหน้าการตลาดมากกว่า แต่ชอบคำว่า “เนชั่นแนลแชมเปี้ยน” โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมส่งอาหารของประเทศไทย และอาหารถือเป็นรากของธุรกิจตั้งแต่ร่วมก่อตั้ง “วงใน”

และเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นได้แล้ว สเต็ปต่อไป เขามองไกลไปถึงการขับเคลื่อนผลักดันองค์กรไปสู่การเป็น “เดเคคอร์น” (มูลค่าบริษัทเกิน 3 แสนล้านบาท) ด้วยซ้ำไป โดยไม่ลืมเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทก็ว่าได้ว่าสักวันจะต้องนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ได้ แม้ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าต้องภายในเมื่อไร แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่า คือเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่ใหญ่ที่สุดใน SET50

“เมื่อไรก็เมื่อนั้น ผมไม่มีกรอบเวลา แต่ในแง่การเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้ ตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ได้ภายในปีสองปีข้างหน้านี้”

ความภูมิใจที่มากกว่ายูนิคอร์น

“ยอด” กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน LINE MAN Wongnai มีพนักงาน 1,000 กว่าคน เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2020-2021 จากที่ก่อนหน้านั้นมี 400-500 คน และว่า สิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจมากกว่าการได้เป็น “ยูนิคอร์น” สตาร์ตอัพ คือสามารถที่จะขับเคลื่อนผลักดันนำพาองค์กรก้าวผ่านความยากลำบาก และกลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทเทคสตาร์ตอัพไทย ที่ “รอดชีวิต” และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ได้

เขาเล่าย้อนไปถึงจุดพลิกผันที่ทำให้ “วงใน-Wongnai” มีวันนี้ว่า เกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อยักษ์แพลตฟอร์มแชต “ไลน์-LINE” มาชวน “วงใน” ทำบริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” และถือเป็นก้าวแรกที่ขยับจากการ “รีวิวร้านอาหาร” มาสู่การเป็นผู้ให้บริการส่งอาหาร แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือปี 2020 เมื่อ “ไลน์” ตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย กลายเป็น “ไลน์แมน-วงใน” พร้อมกับเป้าหมายที่จะเป็น “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้านบริการที่มีนวัตกรรมมากที่สุด”

“ไลน์เข้ามาร่วมทุนกับเราจนกลายเป็นไลน์แมนวงใน ครั้งนั้นเพราะเชื่อในวิชั่นของเรา รอบล่าสุดก็ยังลงเพิ่ม ย่อมแสดงถึงความเชื่อมั่นในทีม ในธุรกิจ และในอนาคตที่จะมีร่วมกัน หลังทำงานร่วมกันมาสองปีกว่า ความสำเร็จในการระดมทุนครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของเรา ซึ่งต้องขอบคุณนักลงทุน ทั้งรายเดิม และรายใหม่ที่ให้โอกาสเราสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ”

เบื้องหลังความสำเร็จ

เขาเชื่อว่าจุดแข็งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้บริษัทมาถึงวันนี้ได้ คือ ความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

“เราปรับตัวมาเรื่อย ๆ ปรับตัวเร็ว จากวงในรีวิวร้านอาหาร มาเป็นฟู้ดดีลิเวอรี่ เรียกว่าถอดชุดใส่สูทใหม่ทุกสองสามปี เราทำได้ดี และสเกลตัวเองได้ค่อนข้างดี ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เราก็สู้ขาดใจ เพื่อให้ประเทศไทยมีบริษัทเทคที่น่าภูมิใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้”

ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร “วงใน” จนกลายมาเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์น “ไลน์แมน-วงใน” เขาบอกว่า ช่วงเวลาที่ยากที่สุดสำหรับเขา คือตอนเริ่มทำ “วงใน” แรก ๆ เพราะต้องใช้เงินตนเอง และติดลบหลายล้านบาท

“ช่วงเริ่มต้นธุรกิจเป็นช่วงที่ยาก นอนไม่หลับ เครียด เพราะไม่มีฟูกรอง ตอนนี้แม้จะเป็นอีกช่วงที่ยาก แต่มีคนมาช่วยเยอะ ทั้งนักลงทุนที่ให้ทั้งทุน และคำแนะนำดี ๆ รวมไปถึงการได้คนเก่ง ๆ มาร่วมงานด้วย”

แต่สิ่งสำคัญกว่าการสร้างบริษัทให้เติบโต คือการทำให้พนักงาน, ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องในอีโคซิสเต็ม ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ร้านค้า และคนขับ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น