ไต้หวันมุ่งใต้มองไทยเนื้อหอม ฐานลงทุนใหม่นอกจีน

ดร.จวง ซั่วฮั่น
สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ชยพล พลวัฒน์

ภาวะเงินเฟ้อสูงและการค้าโลกผันผวน ทำให้หลายชาติที่หวังใช้โอกาสยุคหลังโควิดฟื้นสภาพเศรษฐกิจ ต่างเผชิญความท้าทายรอบด้าน ปัจจัยจากสงคราม ราคาพลังงาน และสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยากจะคาดเดา หลายชาติต่างพยายามดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ทว่าผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐ ทำให้เอกชนหลายแห่งเริ่มหาทางหนีผลกระทบดังกล่าวด้วยการย้ายฐานผลิตออกจากจีน (nonChina supply chain) มากขึ้น

นั่นทำให้ประเทศแถบอาเซียนรวมถึงไทยเป็นที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อย

10 ตุลาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันครบรอบ 111 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หรือวันชาติไต้หวัน ดร.จวง ซั่วฮั่น ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ดร.จวง มองว่า ปัจจุบัน แม้สถานการณ์โลกจะเผชิญความผันผวนหลายประการ แต่ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพอันโดดเด่นในฐานะจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดชาวไต้หวันทั้งด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน ตลอดจนคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และเห็นคุณค่าประชาธิปไตย

ดร.จวง หัวหน้าผู้แทนไต้หวัน ประจำประเทศไทยคนใหม่ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2016 ที่ไต้หวันผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (new south bound policy) เพื่อยกระดับความร่วมมือกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมเอกชนหาทางลงทุนใหม่ในอาเซียนต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มเห็นผลชัดเจนหลังจากสหรัฐกับจีนเผชิญหน้าจากสงครามการค้า

โลกผันผวนโอกาสไทย-ไต้หวัน

ผู้แทนไต้หวันกล่าวว่า “เมื่อโลกเข้าสู่ยุคหลังโควิด หลายชาติมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่เผชิญความท้าทายที่เหมือนอยู่บนทางแยก หลายชาติพยายามดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น นั่นเป็นโอกาสทองของไต้หวัน ประกอบกับสงครามการค้าจีนและสหรัฐ ที่นำไปสู่การย้ายห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน ธุรกิจไต้หวันจำนวนมากจึงมุ่งความสนใจมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็เป็นโอกาสทองของไทยเช่นกัน”

สำหรับประเทศไทย มีชื่อเสียงด้านการเป็นฐานการผลิตในหลายภาคอุตสาหกรรมมายาวนาน ประกอบกับไทยพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่าง EEC และ Thailand 4.0 ซึ่งประเทศไทยถือว่าเนื้อหอมดึงดูดนักลงทุนชาวไต้หวันมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

นักลงทุนไต้หวันที่อยู่ในจีน จำนวนไม่น้อยสนใจย้ายฐานมาไทย ด้วยศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน ที่มีมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม

ธุรกิจไต้หวันมองไทยสดใส

ผู้แทนไต้หวันประจำไทยเล่าว่า ไต้หวันถือเป็นโรงงานของโลกตั้งแต่ต้นยุค 90 กระทั่งปี 2000 ธุรกิจต่างหันไปลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ จีนจึงก้าวขึ้นมาเป็นโรงงานโลก และปัจจุบันเวียดนาม กำลังกลายเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ เมื่อเกิดสงครามการค้า นักลงทุนหนีจากจีนไปเวียดนาม

ทว่าเวียดนามก็มีข้อจำกัดด้านการเมืองแบบสังคมนิยมที่อาจเป็นอุปสรรคบางประการต่อการลงทุนแบบทุนนิยม การลงทุนในเวียดนามยังค่อนข้างซับซ้อนหากเทียบกับชาติอื่นในภูมิภาคเดียวกัน นั่นจึงเป็นเหตุให้นักลงทุนไต้หวัน หันมาสนใจทางเลือกอย่างประเทศไทยมากขึ้นด้วยศักยภาพและความพร้อมมากกว่า

“สงครามการค้าทำให้เอกชนไต้หวันต้องมองหาลู่ทางใหม่ พวกเขามีทางเลือกไม่มาก หากไม่ย้ายฐานกลับไต้หวัน ก็ไปตั้งฐานที่สหรัฐ หรือเม็กซิโก แต่เมื่อไทเปผลักดัน ‘มุ่งใต้’ เอกชนไต้หวันมากถึง 65% สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“ประเทศไทยเหมือนดินแดนที่พระเจ้าเนรมิต ไทยขึ้นชื่อเรื่องการเกษตรเป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นเลิศของโลก ยังเป็นมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมหลายรูปแบบ นักธุรกิจไต้หวันหลายคน
เชื่อว่าไทยยังมีโอกาสที่สดใส”

ฟ็อกซ์คอนน์ปักหมุด “ฮับอีวี”

หัวหน้า สนง.ไทเป ยกตัวอย่างว่า ไทยมีชื่อเสียงเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์มายาวนาน จนได้ฉายาว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” และการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดการร่วมมือของเอกชนรายใหญ่สองชาติอย่าง “ฟ็อกซ์คอนน์” ผู้ผลิตชิ้นส่วน
อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกกับ “ปตท.” ในโครงการผลิตรถอีวีในไทย

กรณีฟ็อกซ์คอนน์ ขณะนี้มีการตั้งโรงงานอีวีเพียง 2 แห่งคือ ในไทยกับรัฐโอไฮโอ ของสหรัฐ สะท้อนว่าแม้แต่เอกชนรายใหญ่ของไต้หวัน มองไทยมีศักยภาพเป็นฮับรถอีวีของเอเชีย

อีกสิ่งที่สะท้อนความสนใจของไต้หวันต่อไทย คือ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ไต้หวันครองอันดับ 1 การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีชาวไต้หวันอาศัยอยู่ในไทยราว 150,000 คน และมีบริษัทสัญชาติไต้หวันดำเนินกิจการในไทยมากถึงราว 5,000 แห่ง

ผู้แทนไต้หวันทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากการฉลอง 111 ปีวันชาติแล้ว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ไต้หวันเริ่มเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังการระบาด ถือเป็นหมุดหมายที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคีอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและภาคแรงงาน ซึ่งหวังว่าไทยกับไต้หวันจะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น