ททท.เร่งเจรจาแอร์ไลน์ ฟื้นเที่ยวบินตรง ปลดล็อกต่างชาติเข้าไทย

Filippo MONTEFORTE / AFP

ททท.เร่งเจรจาสายการบิน ฟื้นเที่ยวบินตรง เปิดเส้นทางใหม่ ชี้ “กุญแจสู่ความสำเร็จ” ของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล สัญญาณเปิดเที่ยวบินเริ่มกลับมาดี แต่กว่าผู้โดยสารจะเท่าก่อนโควิด ต้องรอปี’68 เชื่อค่าเงินปอนด์ตก ยังไม่กระทบการออกเดินทาง

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2565 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วจำนวน 5,696,121 คน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม 2.22 แสนล้านบาท

โดยในเดือนกันยายน 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านทางอากาศคิดเป็นสัดส่วน 70% ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทั้งหมด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชาวอินเดีย จำนวน 108,613 คน มาเลเซีย 80,851 คน สิงคโปร์ 66,240 คน เวียดนาม 56,469 คน และเกาหลีใต้ 55,654 คน ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาผ่านด่านทางบก คิดเป็นสัดส่วน 30% 3 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 249,741 คน ลาว 86,239 คน และกัมพูชา 35,763 คน

ตั๋วแพง นักท่องเที่ยวไม่มา ?

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า จากการประมาณการราคาบัตรโดยสารชั้นประหยัด ณ ปัจจุบัน ในบางเส้นทางมีราคาสูงกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 เท่า เช่น เส้นทางไทย-ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย, ไทย-เยอรมนี ซึ่งราคาบัตรโดยสารที่สูงขึ้น เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล

“กุญแจสู่ความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลเข้าสู่ประเทศไทย คือ การมีเที่ยวบินตรง ททท.ใช้วิธีการพูดคุยผ่านทั้งเอเย่นต์และการเจรจากับสายการบิน ให้กลับมาให้บริการเที่ยวบินที่เคยยกเลิกไป หรือเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ เข้าสู่ประเทศไทย” นายศิริปกรณ์กล่าว

ผู้โดยสารกลับมาเท่าก่อนโควิดในปี 2568

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า จากฐานข้อมูล Official Airlines Guide (OAG) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประมาณการจำนวนผู้โดยสารปี 2565 ในกรณีฐาน (Base Case) ไว้ที่ 76 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศจำนวน 50 ล้านคน ผู้โดยสารจากต่างประเทศ 26 ล้านคน ส่วนปี 2566 คาดว่าจะมีผู้โดยสารราว 128 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศจำนวน 70 ล้านคน ผู้โดยสารต่างประเทศ 58 ล้านคน

ขณะที่ปี 2567 ประมาณการจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 152 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศจำนวน 77 ล้านคน ผู้โดยสารจากต่างประเทศ 75 ล้านคน และปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสารราว 171 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศจำนวน 83 ล้านคน ผู้โดยสารต่างประเทศ 89 ล้านคน สูงกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 165 ล้านคน

กราฟแสดงประมาณผู้โดยสารสายการบินของไทย ตั้งแต่ปี 2565-2568 มีแนวโน้มผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และคาดว่าในปี 2568 ปริมาณผู้โโยสารจะเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19
ที่มา : กพท., ททท.

“จะเห็นว่าในปี 2567 ผู้โดยสารยังน้อยกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ แต่ ททท.ตั้งเป้าประเทศไทยมีรายได้เทียบเท่าหรือมากกว่าปี 2562 ดังนั้น เป้าหมายของเราคือการเพิ่มรายได้ต่อคนต่อทริปจากนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น” นายศิริปกรณ์กล่าว

สัญญาณท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดี

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า จากฐานข้อมูล OAG ชี้ว่าจำนวนที่นั่งของสายการบินที่เดินทางมาประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมในตารางการบินฤดูร้อน (มีนาคม-ตุลาคม 2565) มีจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์จำนวน 329,288 ที่นั่ง ขณะที่ตารางบินฤดูหนาว (ตุลาคม 2565-มีนาคม 2566) มีจำนวนที่นั่งต่อสัปดาห์จำนวน 573,538 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 74.18% โดยเส้นทางที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เที่ยวบินจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ส่วนข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พบว่า จำนวนผู้โดยสารในประเทศ ประจำเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 4.5 ล้านคน เส้นทางบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดคือ สุวรรณภูมิ/ดอนเมือง-เชียงใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยของทุกเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.35 ล้านคนต่อเดือน

“จำนวนที่นั่งสายการบินที่เพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ราคาบัตรโดยสารโดยเฉลี่ยลดลง” นายศิริปกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ ททท.เตรียมดำเนินการเชิงรุก สื่อสารกับสายการบินเพื่อฟื้นเที่ยวบินกลับมาให้ได้มากที่สุด โดยอาจมีการเจรจากับสายการบิน เช่น EVA Air ให้กลับมาเปิดเส้นทางบินเดิม รวมถึงเส้นทางใหม่ เช่น กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต, ปราก, ลอนดอน และสายการบินยังมีศักยภาพที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากตลาดอเมริกาเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมเจรจาสายการบินอื่น ๆ เช่น การบินไทย LOT สิงคโปร์แอร์ไลน์ส

ความท้าทายยังรออยู่

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า สถานการณ์ที่ต้องจับตาของภูมิภาคยุโรป คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน อันส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งยุโรป ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการขาดแคลนเที่ยวบิน

สำหรับกลยุทธ์ของตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง จะเน้นรักษาฐานตลาดนักท่องเที่ยว Repeater ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยววัยเกษียณ กลุ่มสุขภาพ ครอบครัว และให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเดิม ขยายวันพักค้างให้นานมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเดินหน้าดึงดูดนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ จากตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล คาซัคสถาน

ส่วนตลาดการท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย ททท.กำหนดกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Arab Millennials) กลุ่มสุขภาพ กลุ่มฮันนีมูน ข้อมูลพบว่าในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียมีอัตราพักค้างเฉลี่ยราว 13 คืน มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 87,500 บาท ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเดินทางมายังประเทศไทยแล้วกว่า 17,985 คน และคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนสูงถึง 100,000 คน

ด้านตลาดอเมริกา พบว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยเน้นเดินทางกับครอบครัว เลือกเดินทางเป็นจุด ๆ มากขึ้นกว่าการเดินทางไปยังหลายพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  ข้อมูลระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 สิงหาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย 242,756 คน จากเป้าที่วางไว้ที่ 750,000 คน

นายศิริปกรณ์กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา จะมีสัดส่วนราว 30-35% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

ส่วนปี 2566 ททท.ตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอทั้งปี สนับสนุนการออกเดินทางทุกช่วงเวลา พร้อมดันรายได้จากการท่องเที่ยวเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้นเป็น 75,000-80,000 ต่อคนต่อทริป นำมาสู่การกระตุ้นการพักค้างที่ยาวนานมากขึ้น โดยอาจออกกิจกรรมทางการตลาด ฯลฯ ดึงให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เลือกมาท่องเที่ยวพร้อมทำงานในไทย

“แม้สถานการณ์เศรษฐกิจเสี่ยงเข้าภาวะถดถอย เงินเฟ้อที่ยังสูง แต่เชื่อว่าไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ ส่วนในอังกฤษที่มีการประท้วง ค่าเงินปอนด์ลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว” นายศิริปกรณ์กล่าวทิ้งท้าย