ญี่ปุ่นแย่งตัว “บัณฑิตใหม่” ธุรกิจท่องเที่ยว-รถยนต์แข่งดุ

ญี่ปุ่นแย่งตัวบัณฑิตใหม่

ความต้องการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ของภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ “ญี่ปุ่น” เพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดการเดินทางข้ามพรมแดน อีกครั้ง ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแข่งขันแย่งชิงผู้มีความสามารถดุเดือดยิ่งขึ้น

นิกเคอิ เอเชีย รายงานผลการสำรวจการตอบรับเข้าทำงานของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาในปีนี้จนถึงวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 116,079 คน จากการสำรวจทั้งสิ้น 941 บริษัท เพิ่มขึ้น 5.7% จากปี 2021 ซึ่งเป็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงนับจากปีงบประมาณ 2015

การจ้างงานบัณฑิตใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากหลายบริษัทมีการเลิกจ้างงานบางส่วนช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง ขณะที่การฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจพบว่า การจ้างงานในภาคส่วนที่ไม่ใช่การผลิตปีนี้เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า โดยภาคธุรกิจโรงแรมและการเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและภาคบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นราว 4% อย่างสายการบิน “ออล นิปปอนแอร์เวย์” (ANA) ที่เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตใหม่อีก 66 ตำแหน่ง

เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9.6% จากปี 2021 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ที่มีความต้องการผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สูง ส่งผลให้การจ้างงานบัณฑิตกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นราว 8.8% ในปีนี้

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น อย่างนิสสัน มอเตอร์ เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีแผนจ้างงานบัณฑิตใหม่ 356 คน เพิ่มขึ้น 21.5% จากปีก่อนหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้มีทักษะด้านวิศวกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ “ยามาฮ่า มอเตอร์” ระบุว่า ได้เพิ่มการจ้างงานมากถึง 65.6% จากปี 2021 เพื่อรองรับความต้องการรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัว

ส่วนบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไอบีเอ็ม เจแปน และริโก้ ก็เร่งสรรหาบุคลากรที่มีทักษะด้านไอที โดยเฉพาะด้านบริการคลาวด์และดิจิทัลอื่น ๆ โดยทั้งสองบริษัทมีการจ้างงานบัณฑิตใหม่เพิ่มอีกราว 50% จากปริมาณการจ้างงานในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทยังคงไม่สามารถสรรหาแรงงานได้ตามต้องการ อย่างบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “อิออน กรุ๊ป” ที่ตั้งเป้าจ้างงานบัณฑิตจบใหม่อีก 2,200 ตำแหน่ง แต่ขณะนี้ยังมีผู้ตอบรับเข้าทำงานราว 88% ของจำนวนที่ตั้งไว้ ส่งผลให้ต้องมองหาการจ้างงานแรงงานในกลุ่มอื่น

ปัญหาขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถสรรหาบัณฑิตใหม่เข้ามาเติมเต็มตำแหน่งงานที่ว่างได้ ยังส่งผลให้หลายบริษัทหันมาสนใจแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเจแปนไทมส์รายงานผลสำรวจของผู้ให้บริการด้านสารสนเทศญี่ปุ่น Zenken พบว่า 45.5% ของบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามรวม 200 บริษัทระบุว่าสนใจจะจ้างแรงงานต่างชาติ ด้วยเหตุผลทั้งความต้องการแรงงานมีทักษะและปัญหาขาดแคลนแรงงาน


“ฮิซาชิ ยามาดะ” รองประธานสถาบันวิจัยญี่ปุ่น (JIR) ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างประชากร คืออัตราการเกิดของญี่ปุ่นที่ต่ำลง ขณะที่ปัจจัยในเชิงเศรษฐกิจก็สร้างความเสี่ยงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ การอ่อนค่าของเงินเยน รวมถึงสถานการณ์สงครามยูเครน ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอาจเป็นเหตุให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจ้างงานได้น้อยกว่าที่วางแผนเอาไว้