ซาอุดีอาระเบีย ลดพึ่งพาน้ำมัน เบนเข็มรุกตลาด “อีวี”

ซาอุฯลดพึ่งพาน้ำมัน

การผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศของ “ซาอุดีอาระเบีย” เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในเชิงเศรษฐกิจมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายราย เพื่อวางรากฐานก้าวสู่การเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สำคัญระดับโลก

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (พีไอเอฟ) ของซาอุดีอาระเบีย ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวันอย่าง “ฟ็อกซ์คอนน์” (Foxconn) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์แรกของซาอุดีอาระเบียในชื่อ Ceer

โดยฟ็อกซ์คอนน์จะมีบทบาทในการพัฒนาสถาปัตยกรรมไฟฟ้าภายในรถยนต์ของ Ceer ไม่ว่าจะเป็นระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ ระบบการเชื่อมต่อ รวมถึงระบบขับขี่อัตโนมัติ ขณะที่ส่วนประกอบของรถยนต์จะใช้เทคโนโลยีจากผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำอย่าง “บีเอ็มดับเบิลยู”

ทั้งนี้ Ceer จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ซีดานและเอสยูวี โดยคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในปี 2025 และจัดจำหน่ายในซาอุดีอาระเบียรวมถึงกลุ่มประเทศในตะวันออกและแอฟริกาเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามาตีตลาดอย่าง “เทสลา” และ “บีวายดี” จากจีน

Ceer ยังตั้งเป้าระดมทุนผ่านการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานภายในประเทศได้ถึง 30,000 ตำแหน่ง และมีส่วนช่วยสร้างจีดีพีให้กับซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นอีกกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2034

แถลงการณ์ของกองทุนพีไอเอฟระบุว่า “ซาอุดีอาระเบียไม่เพียงแต่จะสร้างแบรนด์รถยนต์ใหม่ แต่เรากำลังจุดประกายอุตสาหกรรมใหม่” ทั้งนี้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ซึ่งเป็นประธานกองทุนพีไอเอฟ และเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน

ซาอุดีอาระเบียได้เดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีมาอย่างต่อเนื่อง โดยรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กองทุนพีไอเอฟยังได้เข้าถือหุ้นกว่า 60% ใน “ลูซิด กรุ๊ป” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ขณะนี้กำลังสร้างโรงงานอีวีในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 150,000 คัน/ปี

ก.ค.ที่ผ่านมา กองทุนพีไอเอฟยังได้เข้าถือหุ้นใน “แอสตันมาร์ติน” รวม 16.7% ด้วยเม็ดเงินลงทุน 78 ล้านปอนด์และหุ้นเพิ่มทุนอีก 575 ล้านปอนด์ ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองในค่ายรถหรูเก่าแก่ของอังกฤษ ที่กำลังประสบปัญหาการเงินและแสวงหาเงินทุนสำหรับการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่

ก่อนหน้านี้ยังมีกระแสข่าวว่า ซาอุดีอาระเบียมีแผนผลักดันการทำเหมืองและสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี และในช่วงต้นปีนี้ วอลล์สตรีตเจอร์นัลยังรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้เจรจากับฟ็อกซ์คอนน์ เพื่อร่วมทุนสร้างโรงงานมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเมืองแห่งอนาคต “นิอุม” ที่ซาอุดีอาระเบียกำลังพัฒนาขึ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งสำหรับการผลิตไมโครชิป ส่วนประกอบรถอีวี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่และกระจายเศรษฐกิจออกจากการพึ่งพาน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2021 ด้วยเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

อย่างไรก็ตาม ความฝันของซาอุดีอาระเบียเหมือนจะยาวไกล เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่อยู่ในระดับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับซาอุดีอาระเบียในการก้าวสู่ธุรกิจอีวีที่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์หลักของโลกในอีกไม่ช้า