
ยูเครน แสวงหาการสนับสนุนจากนานาชาติ พร้อมปฏิบัติการแยกรัสเซียออกจากเวทีโลก ล่าสุดส่งรัฐมนตรีต่างประเทศลงนามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียนในการประชุมอาเซียน ซัมมิตที่กัมพูชา
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 อัลจาซีรา รายงานว่า ยูเครนได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ที่ยูเครนพยายามเพื่อให้ได้การสนับสนุนจากนานาชาติ และแยกรัสเซียออกจากเวทีโลก
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน หมอชลน่าน ศรีแก้ว พ้น ส.ส. รวย 560 ล้านบาท
- #dek66 สร้างตำนานเปลี่ยนไทม์โซนมือถือเข้าดูคะแนน TCAS ก่อนเวลา
- โรงงานชลบุรีปิดหนี เทลูกจ้าง ค้างค่าแรง 7 เดือน ยอดชดเชย 12 ล้านบาท
ดมีโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เดินทางมาร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พร้อมกับลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันนี้ (10 พ.ย.)
โดยเป็นการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในอาเซียน หรือ TAC (Treaty on Amity and Cooperation in Southeast Asia) เป็นการให้คำมั่นกับภาคีที่จะ “เคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกลักษณ์ประจำชาติของทุกประเทศ”
ขณะที่สื่อในกัมพูชารายงานว่า แม้จะมีคำเชิญให้ยูเครนเข้าร่วมสนธิสัญญากับอาเซียน ภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนก็ไม่สามารถตกลงที่จะอนุญาตให้โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน ร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิตร ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากกรุงเคียฟได้
แม้ตั้งแต่ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เซเลนสกี จะประชุมสุดยอดหลายครั้ง รวมทั้งการประชุมรัฐสภาทั่วโลก และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สภาสหราชอาณาจักร และรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา แต่กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศก็ยังสงวนท่าทีที่จะประณามรัสเซียที่ประกาศสงครามกับยูเครน รวมถึงการตำหนิรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) 8 ใน 10 ประเทศอาเซียนโหวตสนับสนุนมติที่ประชุมในการประณามรัสเซียรุกรานยูเครน ส่วนพันธมิตรที่ใกล้ชิดรัสเซีย เช่น เวียดนามและ สปป.ลาว งดออกเสียง
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
อัลจาซีรารายงานด้วยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีท่าทีขึงขังที่สุดในเรื่องนี้คือสิงคโปร์ โดยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียฝ่ายเดียว ขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน มีท่าทีสนับสนุนยูเครนมากขึ้น
“กัมพูชาต่อต้านการรุกราน การคุกคามหรือการใช้กำลังเหนืออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐเอกราช และไม่สนับสนุนการแยกตัวหรือการผนวกดินแดนโดยประเทศอื่น” ฮุน เซน กล่าวกับเซเลนสกีระหว่างการ โทร.ทางไกลครั้งล่าสุด
ผู้นำกัมพูชายังให้คำมั่นที่จะสนับสนุนความปรารถนาของยูเครนในการเป็นคู่เจรจาเฉพาะสาขา (Sectoral Dialogue Partner) กับอาเซียน เพื่อก้าวสู่ประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partnership) อย่างเต็มรูปแบบที่ปัจจุบันมีรัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ
ส่วนโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังเข้าร่วมการประชุมอาเซียนและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกคู่ขนานด้วยตนเอง ในขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้เข้าร่วม โดยรัสเซียเชื่อว่าจะส่งเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ เข้าร่วม แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยืนยันก็ตาม
อินโดนีเซียยืนยันวันนี้ (10 พ.ย.) ว่าปูตินจะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในบาหลีในสัปดาห์หน้า และดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์ถัดไป
ซูซานนาห์ แพตตัน ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบัน Lowy Institute ของออสเตรเลีย ระบุข้อเขียนที่ตีพิมพ์วันนี้ว่า การไม่มีวลาดิมีร์ ปูตินเข้าร่วมประชุม ควรเปิดโอกาสให้ยูเครนได้พยายามและได้รับการสนับสนุนในระดับสากลมากขึ้น
“ในขณะที่ความคิดเห็นในเอเชียเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียยังคงปะปนอยู่ แต่การประชุมสุดยอดดังกล่าวน่าจะดีกว่าสำหรับยูเครนมากกว่ารัสเซีย และการที่ปูตินไม่อยู่จะทำให้การพูดถึงจุดสำคัญของรัสเซียที่มีต่อเอเชียลดลง” แพตตันกล่าว