ไบเดนพร้อมเคลียร์ปูติน ยุติสงครามยูเครน ท่ามกลางรอยร้าวสหรัฐ-ยุโรป

ไบเดนพร้อมเคลียร์ปูติน
REUTERS/Jonathan Ernst


“โจ ไบเดน” ประกาศพร้อมพูดคุยกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” หากผู้นำรัสเซียแสดงความสนใจจะยุติสงครามในยูเครน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างสหรัฐกับชาติยุโรป 

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวว่า เขาเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยกับ “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย เกี่ยวกับสงครามในยูเครน หากผู้นำรัสเซียแสดงความสนใจในการยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมานาน 9 เดือน

“ผมพร้อมที่จะพูดคุยกับปูติน หากเขาสนใจมองหาหนทางยุติสงคราม” ไบเดนกล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า เขาจะทำเช่นนั้นหลังจากปรึกษากับพันธมิตรนาโตแล้วเท่านั้น

คำพูดดังกล่าวมีขึ้นที่งานแถลงข่าวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างการประชุมสุดยอดระดับทวิภาคระหว่างไบเดนกับ “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

นับเป็นการเปิดกว้างอย่างที่สุดสำหรับไบเดน เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามกับปูติน

ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวด้วยว่า เขายังไม่มีแผนในทันทีที่จะติดต่อกับผู้นำรัสเซีย และยังไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ใด ๆ จากปูติน ว่าเขายินดีที่จะยุติสงคราม

“เขายังไม่ได้ทำอย่างนั้น หากเป็นเช่นนั้น ในการปรึกษาหารือกับพันธมิตรของผม ทั้งฝรั่งเศสและนาโต ผมยินดีที่จะนั่งคุยกับปูตินเพื่อดูว่าเขาคิดอะไรอยู่ในใจ” ไบเดนกล่าว

ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพต้อนรับมาครง ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐเป็นเวลา 3 วัน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่สงครามในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

ความขัดแย้งในยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในยุโรปมากกว่าสหรัฐ จากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากรัสเซียลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับครัวเรือนและบริษัทต่าง ๆ ทั่วสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ประเทศในยุโรปก็ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้านสภาพอากาศของไบเดน หรือที่รู้จักกันในชื่อพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อปี 2022 ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงินทุนในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียว

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่ออกมาวิจารณ์กฎหมายนี้มากที่สุด โดยแย้งว่านำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมด้วยการสงวนเครดิตภาษีและเงินอุดหนุนสำหรับบริษัทของสหรัฐ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการตกงานในสหภาพยุโรป

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มาครงกล่าวถึงกฎหมายนี้ว่า “ก้าวร้าวรุนแรง” ต่อบริษัทในยุโรป พร้อมเตือนถึงความเสี่ยงที่จะทำให้ตะวันตกแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เมื่อมีความจำเป็นต้องสามัคคีกัน เพื่อหาทางออกจากผลกระทบของสงคราม

ในการแถลงข่าวล่าสุด ไบเดนกล่าวว่า เขาจะไม่ขอโทษกรณีร่างกฎหมายลดเงินเฟ้อ ซึ่งมีนโยบายให้เงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสหรัฐ และเครดิตภาษีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียนและแบตเตอรี่

อย่างไรก็ตาม เขาส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะยอมผ่อนปรนกฎหมายเพื่อคลายความกังวลของสหภาพยุโรป