รัฐบาลศรีลังกาตัดงบทุกกระทรวง ลดรายจ่ายภาครัฐ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา
AFP/ ISHARA S. KODIKARA

รัฐบาลศรีลังกาประกาศลดงบประมาณของทุกกระทรวงลงกระทรวงละ 5% และพยายามจะลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาพวิกฤตหนัก ทำร้ายชาวศรีลังกาตลอดปีที่ผ่านมา 

สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำร้ายชาวศรีลังกามาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 

ศรีลังกาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ไม่มีเงินซื้อสินค้านำเข้า เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และอัตราเงินเฟ้อสูงเกือบ 30% 

หนี้สาธารณะท่วมหัว รัฐบาลไม่มีเงิน ต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ และกู้เงินเพิ่มอีก 

ชาวศรีลังกาเดือดร้อนอย่างหนัก นำไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ บีบให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ลาออกจากตำแหน่ง

นายรานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายโกตาบายา ราชปักษา ลดการขาดแคลนเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มลงได้บางส่วน แต่สถานการณ์ไฟดับยังดำเนินต่อไป พร้อมกับการขาดแคลนยานำเข้า 

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 10 มกราคม 2566 AP รายงานว่า นายบัณฑูลา กุนาวาร์เดนา (Bandula Gunawardena) รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร และโฆษกรัฐบาลศรีลังกา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลจะปรับลดงบประมาณประจำปีของทุกกระทรวงลงกระทรวงละ 5% และรัฐบาลกำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย

เมื่อเดือนธันวาคม 2565 รัฐสภาของศรีลังกาอนุมัติงบประมาณ 5.82 ล้านล้านรูปี (15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ ลดเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้า และเพิ่มภาษีเพื่อเพิ่มการเก็บรายได้เข้ารัฐ ตามเงื่อนไขการกู้เงินเพิ่มเติมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นวงเงินกู้ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา
รานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา พูดกับเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีที่เกษียณอายุเมื่อปลายปี 2565 /AFP PHOTO/SRI LANKA PRESIDENT’S OFFICE


รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร ของศรีลังกา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจศรีลังกาปี 2565 ติดลบ 7% 

“ด้วยเหตุนี้ เราคาดว่ารายได้ของรัฐบาลจากการเก็บภาษีจะลดลงอย่างมากในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เราคิดว่าการสูญเสียรายได้นี้จะส่งผลตลอดทั้งปีนี้”

“กระทรวงการคลังกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด” เขากล่าว และเสริมว่ารัฐบาลกำลังดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 

รัฐบาลศรีลังกาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ลดจำนวนข้าราชการที่มีจำนวนมหาศาลถึง 1.6 ล้านคน (คิดเป็น 7.08% ของจำนวนประชากร 22.6 ล้านคน) และกำลังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการขึ้นภาษีและค่าไฟฟ้า

ศรีลังกามีหนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศมากกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ครบกำหนดชำระในสิ้นปี 2565 ถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งศรีลังกาผิดนัดชำหนี้ไปแล้ว และภายในปี 2570 จะต้องจ่าย 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ-เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องพยายามแก้


……………………