วิกฤตศรีลังกา : พ่อแม่ต้องเลือกว่า ให้ลูกคนไหนไปเรียนหนังสือได้

Manendra มาลกีกลับไปเรียนหนังสือได้อีกครั้ง แต่น้องของเธอต้องหยุดเรียน

มาลกี วัย 10 ขวบ ลุกจากที่นอนด้วยความตื่นเต้น

เธอตื่นก่อนพี่น้องชายหญิงอีก 4 คนของเธอ 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะมาขูดสีทาเล็บสีแดงออกจากเล็บ

วันนี้เป็นวันแรกที่เธอได้กลับไปเรียนหนังสือ เธอจึงอยากให้จะทุกอย่างดูดี

แต่พี่น้องของเธอต้องอยู่บ้าน ครอบครัวของเธอสามารถส่งลูกไปโรงเรียนได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น

เมื่อ 6 เดือนก่อน ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมา

พื้นที่ส่วนใหญ่ในศรีลังกาเริ่มกลับสู่ความสงบแล้ว ครอบครัวจำนวนมากรับรู้ถึงผลกระทบของการที่คนตกงานจำนวนมากและราคาข้าวของที่สูงขึ้นแล้ว

Manendra
มาลกีกลับไปเรียนหนังสือได้อีกครั้ง แต่น้องของเธอต้องหยุดเรียน

ฝันร้ายของพ่อแม่

ปริยันธิกา แม่ของมาลกี ต้องให้ลูก ๆ เลิกเรียนหนังสือ เพื่อให้มาขายดอกไม้ไฟหาเงิน

ราคาอาหารในศรีลังกาสูงถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนที่เงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่เกือบ 95%

บางวัน ไม่มีใครในครอบครัวของมาลกีได้กินอาหารเลย

แม้ว่าจะไม่เสียค่าเล่าเรียนในศรีลังกา แต่ต้องจ่ายค่าอาหาร

เมื่อต้องซื้อเครื่องแบบและเสียค่ารถในการเดินทางอีก ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ปริยันธิกาไม่สามารถแบกรับอีกต่อไป

เธอบอกว่า หากให้ลูกกลับไปเรียนหนังสือ เธอต้องใช้เงินราว 400 รูปีต่อวัน (ประมาณ 37 บาท) สำหรับให้ลูกแต่ละคน

เธอปาดน้ำตา ขณะนั่งอยู่บนเตียงที่ทุกคนนอนร่วมกันในบ้านที่มีห้องนอนห้องเดียว

“เด็ก ๆ ทุกคนเคยไปเรียนหนังสือทุกวัน ตอนนี้ฉันไม่มีเงินส่งพวกเขาแล้ว” เธอกล่าว

มาลกีสามารถไปโรงเรียนได้ เพราะเธอยังใส่รองเท้าและเครื่องแบบนักเรียนได้อยู่

แต่ดูลันจาลี น้องสาวของเธอ ต้องนอนร้องไห้บนเตียง รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ไปโรงเรียนในวันนี้

“ลูกรัก อย่าร้องเลย” ปริยันธิกา กล่าว “แม่จะพยายามและพาลูกไปพรุ่งนี้”

การศึกษาที่พังยับ

ขณะที่พระอาทิตย์ขึ้น เด็ก ๆ ที่ได้ไปโรงเรียนต้องรีบเดินทางไปบนถนนลูกรังในชุดเครื่องแบบนักเรียน กระโดดขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์หรือไม่ก็รถตุ๊กตุ๊ก

อีกฝั่งหนึ่งของเมือง ปรากรามา วีระสิงเห ถอนหายใจด้วยความเหนื่อยล้า

เขาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมโคตาเฮนา เซ็นทรัล ในกรุงโคลอมโบ และได้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจในแต่ละวัน

Manendra
พ่อแม่ไม่สามารถส่งลูก ๆ ไปโรงเรียนทุกวันได้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ

“เมื่อเริ่มวันในโรงเรียน เราจะมีการเข้าแถวตอนเช้า เด็ก ๆ อาจเป็นลมได้เพราะความหิว” เขากล่าว

รัฐบาลระบุว่า ได้เริ่มแจกข้าวให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ แล้ว แต่โรงเรียนหลายแห่งที่บีบีซีติดต่อไป ระบุว่า พวกเขายังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

นายวีระสิงเห กล่าวว่า อัตราการเข้าเรียนลดลงต่ำถึง 40% ก่อนที่เขาจะถูกบังคับให้ขอให้ครูหาอาหารเข้ามา เพื่อให้นักเรียนกลับมาเรียนหนังสือ

โจเซฟ สตาลิน เป็นเลขาธิการใหญ่ของสหภาพครูซีลอน (Ceylon Teachers Union)

เขาเชื่อว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะเพิกเฉยต่อจำนวนครอบครัวที่ต้องยอมให้ลูกเลิกเรียนเพราะรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

“ครูของเราเป็นครูที่เห็นกล่องอาหารกลางวันเปล่า ๆ” เขากล่าว “เหยื่อที่แท้จริงของวิกฤตเศรษฐกิจคือ เด็ก ๆ”

“พวกเขา (รัฐบาล) ไม่หาคำตอบสำหรับปัญหานี้ ยูนิเซฟและองค์กรอื่น ๆ ได้เห็นและชี้ถึงปัญหานี้ แทนที่จะเป็นรัฐบาลศรีลังกา”

ยูนิเซฟ ระบุว่า จะเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นสำหรับผู้คนในการหาเลี้ยงตัวเองในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ เพราะเงินเฟ้อในต้นทุนของสินค้าจำเป็นอย่างข้าวยังคงทำลายครอบครัวต่าง ๆ อยู่

คาดว่า จะมีเด็กทั่วประเทศถูกบังคับให้เลิกเรียนหนังสือเพิ่มมากขึ้น

ความหวังสุดท้าย ?

การที่รัฐบาลดูเหมือนว่า จะไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์นี้ได้ องค์กรการกุศลต่าง ๆ จึงต้องก้าวเข้ามา

ซามาทา ซารานา (Samata Sarana) เป็นองค์กรการกุศลศาสนาคริสต์ซึ่งช่วยเหลือคนยากจนในกรุงโคลอมโบมานาน 30 ปีแล้ว

ตอนนี้ ห้องอาหารขององค์กรนี้ เต็มไปด้วยนักเรียนที่หิวโหยจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วกรุงโคลอมโบ

แม้ว่าองค์กรการกุศลแห่งนี้สามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้ราว 200 คนในแต่ละวัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ได้ตามนี้

“พวกเขาให้อาหารเรา จัดหารถบัสพากลับบ้าน พวกเขาให้เราทุกอย่าง ดังนั้นตอนนี้เราเรียนหนังสือได้” มาโนช วัย 5 ขวบ กล่าว ขณะกำลังต่อแถวรับอาหารกลางวันพร้อมกับกลุ่มเพื่อน

ตอนที่มาลกีกลับถึงบ้านในวันแรกของการกลับเข้าเรียน เธอเล่าให้แม่ฟังว่า สนุกแค่ไหนที่ได้เห็นหน้าเพื่อน ๆ อีกครั้ง

Manendra
องค์กรการกุศลหลายแห่งกำลังพยายามช่วยให้เด็ก ๆ ไม่ต้องเลิกเรียนหนังสือให้ได้มากที่สุด

แต่เธอก็บอกแม่ด้วยว่า เธอต้องใช้หนังสือเล่มใหม่และบอกว่า คุณครูกำลังขอเงินพิเศษสำหรับซื้อวัสดุต่าง ๆ ในโครงการของทางโรงเรียน

เงินที่ทางครอบครัวของเธอไม่มี

“ถ้าเราสามารถหาข้าวกินในวันนี้ได้ เราก็จะกังวลว่า ทำอย่างไรถึงจะมีอะไรกินในวันพรุ่งนี้” ปริยันธิกา กล่าว

“นั่นได้กลายเป็นชีวิตของเราไปแล้ว”

……….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว