“น้ำมันโลก” ป่วนอีกรอบ หลังยุโรปแบนดีเซลรัสเซีย

น้ำมันโลก
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

บรรดาประเทศในยุโรปเพิ่งห้ามการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียแบบเด็ดขาดไปเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียระลอกใหม่ด้วยการห้ามการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียอีกรอบ เริ่มตั้งแต่ 5 ก.พ.นี้เป็นต้นไป

นักวิเคราะห์เชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีกระลอก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กันมากที่สุดในยุโรป และมีรัสเซียเป็นแหล่งนำเข้าหลักตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ที่ชวนให้เป็นกังวลมากยิ่งขึ้นก็คือ เหตุดังกล่าวบังเอิญประจวบเหมาะเข้ากับการเปิดประเทศและพยายามรีสตาร์ตเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่อีกครั้งของจีน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มมากขึ้น และยิ่งจะทำให้ตลาดตึงตัวมากยิ่งขึ้น

ผลลัพธ์ก็คือราคาพลังงานจะเพิ่มสูงขึ้น สร้างแรงกดดันระลอกใหม่ให้กับอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง รวมทั้ง “เฮนนิง กลอยสตีน” แห่งยูเรเซียกรุ๊ป เชื่อว่าไม่เพียงแต่ราคาดีเซลจะพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น อาจถึงกับเกิดการขาดแคลนดีเซลขึ้นได้ในยุโรป

ทั้งยังเชื่อกันว่าภาวะผันผวนระลอกใหม่นี้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกที่ได้รับอานิสงส์จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดต่ำลงในช่วงที่ผ่านมา กลับไปได้รับผลกระทบในทางลบใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำมันอีกไม่น้อยที่เชื่อว่า มาตรการแซงก์ชั่นของโลกตะวันตกต่อรัสเซียจะได้ผลอีกครั้ง ทำนองเดียวกับที่เคยได้ผลมาแล้วเมื่อยุโรปห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียก่อนหน้านี้

“ฮอร์เก้ ลีออน” นักวิเคราะห์ของ ริสตัดบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน เชื่อว่าราคาน้ำมันคงได้รับผลกระทบบ้างในระยะแรกเริ่ม แต่ผลกระทบจะไม่มากและไม่นาน เขาชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา บรรดาชาติในยุโรปพากันสต๊อกดีเซลจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้น

ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินของรัสเซียเพิ่มขึ้นกว่า 25% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์อย่าง “เรดเบิร์น” แสดงให้เห็นว่า สต๊อกน้ำมันดีเซลในแหล่งสำคัญของยุโรปพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2021 ทีเดียว

มากพอที่จะกลายเป็น “กันชน” ด้านราคาหรือปริมาณดีเซลในตลาด เพื่อให้เวลาในการแสวงหาแหล่งนำเข้าใหม่ได้

แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า “การห้ามนำเข้าดีเซล” (และน้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ) จากรัสเซีย ทำให้ยุโรปต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน ซึ่งหมายความว่าจำเป็นต้องเข้าไปแข่งขันด้านราคากับผู้ซื้อรายอื่น ๆ ในตลาดโลก ซึ่งทำให้ยุโรปเสียเปรียบประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กว่าตามสภาพภูมิศาสตร์

“เบเนดิคต์ จอร์จ” ผู้เชี่ยวชาญตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของอาร์กัส ระบุว่า การลำเลียงน้ำมันสำเร็จรูปซับซ้อนและอ่อนไหวกว่าการลำเลียงน้ำมันดิบไม่น้อย ดังนั้น ยุโรปจะเสียเปรียบประเทศที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเหล่านี้

ยุโรปจะเสียเปรียบบรรดาประเทศในแถบละตินอเมริกาในการแย่งกันซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในสหรัฐอเมริกา และเสียเปรียบบรรดาชาติผู้นำเข้าน้ำมันในเอเชีย ในการแย่งซื้อน้ำมันที่กลั่นจากโรงกลั่นในอินเดีย หรือตะวันออกกลาง

กระนั้น “ฮอร์เก้ ลีออน” ก็ยังเชื่อว่า แม้สถานการณ์จะน่ากังวลอยู่บ้าง แต่ชาติที่ต้องกังวลมากที่สุดควรเป็นรัสเซียเองมากกว่า

ลีออนชี้ให้เห็นว่า เมื่อยุโรปห้ามนำเข้าน้ำมันดิบ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ บรรดาผู้นำเข้าในเอเชียพากันกดดันรัสเซียให้ลดราคาน้ำมันดิบของตนเองลงถึงครึ่งหนึ่งของราคาตลาดโลก รัสเซียจำเป็นต้องส่งออกน้ำมันในราคา 40-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้

เหตุการณ์เช่นเดียวกันน่าจะเกิดขึ้นกับน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซีย มีโอกาสสูงที่ผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีนหรืออินเดียอาจต่อรองขอลดราคาลงมากถึง 60% ของราคาตลาด

แต่ถ้าหากรัสเซียหาผู้ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปได้ยาก ก็จะหันมาเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบแทน ในสนนราคาที่อาจต่ำลงไปกว่าเดิมอีกก็เป็นได้

เบเนดิคต์ จอร์จ เตือนว่า ในกรณีเช่นนั้น ประเทศอย่าง “จีนหรืออินเดีย” อาจหันมาห้ามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของตนเอง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของโลก โดยเฉพาะดีเซลตึงตัวมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น แม้ว่าผลลัพธ์จากการแซงก์ชันน้ำมันสำเร็จรูปรัสเซียรอบใหม่ครั้งนี้ยังไม่แน่ชัดนัก แต่ที่แน่นอนก็คือ จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเกิดการผันผวนขึ้นมาใหม่อีกระลอก ในอีกเพียงแค่ไม่ช้าไม่นานนี้เท่านั้น