ออสเตรเลียเตรียมออกธนบัตร $5 ใหม่ ไม่มีรูปกษัตริย์อังกฤษ เชิดชูชาวพื้นเมืองแทน

ออสเตรเลียไม่ใส่รูปกษัตริย์อังกฤษในธนบัตรใหม่
REUTERS/ Loren Elliott/ Illustration

ธนาคารกลางประเทศออสเตรเลียประกาศเตรียมออกธนบัตรชนิด 5 ดอลลาร์ใหม่ จะไม่ใส่รูปพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์อังกฤษในธนบัตรแทนที่รูปควีนเอลิซาเบธที่ 2 แต่จะออกแบบเพื่อยกย่องวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชาวพื้นเมืองแทน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 BBC และสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานข่าว ธนาคารกลางประเทศออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia : RBA) ประกาศเตรียมออกธนบัตรชนิด 5 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AU$5) แบบใหม่ออกมาใช้แทนที่แบบเดิม หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งเครือจักรภพสวรรคต  

ประเด็นสำคัญคือ ธนาคารกลางออสเตรเลียถือโอกาสนี้ไม่ใส่รูปพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์อังกฤษในธนบัตร แต่จะออกแบบธนบัตรใหม่เพื่อยกย่อง “วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของ First Australians” ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนานก่อนที่ชาวตะวันตกจะเข้ามา 

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในเดือนกันยายน 2565 ได้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของออสเตรเลียว่าจะยังอยู่ในเครือจักรภพต่อไปหรือไม่ และมีข่าวออกมาว่า ธนบัตรชนิด 5 ดอลลาร์ ที่เป็นรูปควีนจะไม่ได้ถูกแทนที่โดยรูปของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยอัตโนมัติ แต่อาจจะถูกแทนที่ด้วยรูปของบุคคลชาวออสเตรเลียเอง

“การตัดสินใจของคณะกรรมการธนาคารกลางเกิดขึ้นหลังจากการปรึกษาหารือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้” ธนาคารกลางออสเตรเลียระบุในแถลงการณ์

“ธนาคารจะปรึกษากับชาวออสเตรเลียดั้งเดิมในการออกแบบธนบัตร 5 ดอลลาร์ ธนบัตรใหม่จะใช้เวลาหลายปีในการออกแบบและพิมพ์ ในระหว่างนั้น ธนบัตร 5 ดอลลาร์แบบปัจจุบันจะยังมีการพิมพ์ออกมา และยังสามารถใช้ต่อไปได้แม้ว่าจะมีการออกธนบัตรใหม่แล้วก็ตาม”

โฆษกธนาคารกลางออสเตรเลียบอกกับสำนักข่าว BBC ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบธนบัตรชนิดมูลค่าอื่น ๆ และยังไม่ได้กำหนดวันที่จะเปิดเผยการออกแบบธนบัตร 5 ดอลลาร์ใหม่ด้วย

BBC รายงานอีกว่า การตัดสินใจดังกล่าวนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักการเมืองและผู้นำชุมชนชาวอะบอริจิน 

“นี่เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนระดับรากหญ้า ชนชาติแรกของประเทศที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศนี้ให้เป็นเอกราช” ลิเดีย โธรป (Lidia Thorpe) วุฒิสมาชิกจากพรรคกรีนส์ ซึ่งสืบเชื้อสายชาวพื้นเมืองดั้งเดิม

ทั้งนี้ เสียงเรียงร้องจากประชาชน และการพิจารณาของฝ่ายการเมืองถึงการถอนตัวออกจาเครือจักรภพเกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงออสเตรเลีย สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม  

การลงประชามติเมื่อปี 1999 ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวออสเตรเลียเลือกที่จะให้กษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของประเทศต่อไป 

แต่ในปี 2021 ออสเตรเลียมีการเปลี่ยนเนื้อเพลงชาติที่มีคำว่า “young and free” ซึ่งปัญหาอยู่ที่คำว่า young ซึ่งแปลว่า เป็นประเทศใหม่ที่ยังอายุน้อย ถือเป็นการไม่ให้เกียรติชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประเทศออสเตรเลียมาหลายหมื่นปี 

การที่ออสเตรเลียจะไม่ใส่รูปกษัตริย์อังกฤษพระองค์ใหม่ในธนบัตร จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในออสเตรเลียอีกระดับ 

…………………