ตัวเลขจ้างงานสหรัฐเพิ่มเกินคาด แต่ค่าจ้างเริ่มชะลอ เฟดต้องคิดเยอะในการขึ้นดอกเบี้ย

ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐ
AFP/ Ed JONES

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การเติบโตของค่าจ้างรายเดือนชะลอตัวลง เป็นภาพที่ทำให้ธนาคารกลางต้องคิดมากและยากขึ้นในการพิจารณาว่าจะเร่งความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่

วันที่ 10 มีนาคม 2566 สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐอเมริกา (U.S. Bureau of Labor Statistics) เปิดเผยสถานการณ์การจ้างงานในสหรัฐประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่ง ต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่เพิ่ม 504,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่ม 215,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงกว่าที่ตลาดคาดติดต่อกันมา 11 เดือน 

การจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในภาคบริการ ค้าปลีก หน่วยงานภาครัฐ และเฮลท์แคร์ ส่วนภาคที่การจ้างงานลดลงคือ ด้านข้อมูล (information) การขนส่งและคลังสินค้า  

ส่วนอัตราการว่างงานขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 3.4% ในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งระดับต่ำสุดในรอบกว่า 53 ปี  เพิ่มเป็น 3.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานรวม 5.9 ล้านคน 

รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงการทำงานของคนทำงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8 เซ็นต์ เป็นชั่วโมงละ 33.09 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นช้าที่สุดในรอบ 1 ปี 

ส่วนอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน เพิ่มขึ้นเป็น 62.5% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ขณะที่การเติบโตของค่าจ้างรายเดือนในวงกว้างชะลอตัวลง นำเสนอภาพแบบผสมที่จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางต้องคิดมากและยากขึ้นในการพิจารณาว่าจะเพิ่มความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ 

หลังตัวเลขการจ้างงานออกมา ดัชนี S&P 500 เปิดตลาดลดลงต่ำกว่าการปิดตลาดวันก่อนหน้า พันธบัตรแข็งค่าขึ้น และเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนมองว่า ตัวเลขดังกล่าวจะผลักให้ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไป แทนที่จะขึ้น 0.50% อย่างที่เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวต่อสภาในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานสถานการณ์การจ้างงานเดือนกุมภาพันธ์ชี้ให้เห็นว่าตลาดงานยังคงตึงตัว ความต้องการจ้างงานมีมากกว่าจำนวนคนทำงานที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ไปอย่างต่อเนื่อง อุปทานแรงงาน (จำนวนผู้ว่างงาน) ที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของค่าจ้างที่ลดลงในบางภาคส่วน น่าจะช่วยให้เฟดบรรลุเป้าหมายในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ 

การที่นายจ้างยังลังเลที่จะเลิกจ้างพนักงานโดยที่พวกเขาต้องพยายามดิ้นรนดึงดูดและรักษาไว้ ช่วยให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ และทำให้คนอเมริกันจำนวนมากมีรายจ่ายต่อไป 

เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวในการรายงานนโยบายต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 7-8 มีนาคมที่ผ่านมาว่า การจะขยับไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลทั้งหมด รวมถึงตัวเลขการจ้างงาน และรายงานอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเฟดจะให้ความสำคัญกับดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะประกาศในวันอังคารที่ 14 มีนาคม ก่อนที่เฟดจะประชุมในวันที่ 21-22 มีนาคม 

นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีถึงผลกระทบของการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดที่จะเกิดต่อระบบการเงิน ซึ่งแสดงสัญญาณความตึงเครียดแล้ว เห็นได้จากกรณี  Silicon Valley Bank ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง