ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงาน เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงาน เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟด หลังเฟดส่งสัญญาณต้องสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ ล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนัก 69.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 7-10 มีนาคม 2566 ค่าเงินดอลลาร์เปิดตลาดวันอังคารอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงที่ระดับ 104.2 โดยทยอยอ่อนค่าลงตั้งแต่วันศุกร์ (3/3) ภายหลังจาก ISM เปิดเผยว่าดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์

ประกอบกับการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้การคาดการณ์เร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดชะลอความร้อนแรงลงบางส่วน กดดันค่าเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ตลาดจับตาดูถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาของประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ในวันอังคารและแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร์ในวันพุธ และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ในวันศุกร์นี้ (10/3) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดก่อนที่จะมีการประชุมกำหนดนโยบายทางการงินระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคมนี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจนั้น สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยในวันศุกร์ (3/3) ว่า ดัชผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 55.2 ในเดือนมกราคม แต่สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับสูงสุดในรอบกว่าปี

ด้านเอสแอนด์ดี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวสู่ระดับ 50.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 46.8 ในเดือนมกราคม และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.5 หลังจากหดตัวติดต่อกัน 7 เดือน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันจันทร์ (6/3) ว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 1.6% ในเดือนมกราคม ขณะที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.8% หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนธันวาคม โดยเหตุผลหลักมาจากการทำสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้งลดลง ซึ่งโดยปกติแล้วโบอิ้งจะได้รับคำสั่งซื้อใหม่ในช่วงสิ้นปี และลดลงมากในช่วงต้นปี

ปธ.เฟดแถลงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

โดยกลางสัปดาห์นายพาวเวลล์ประธานเฟด แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย (Terminal Rate) ของเฟดจะอยู่สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และหากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าเฟดควรคุมเข้มนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น เฟดก็จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 105.4 เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.05% ในเดือนนี้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในกรอบ 5.50-5.75% ในเดือนมิถุนายน และเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงหลังจากแตะจุดสูงสุดในปีที่แล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ยังคงเป็นนทางอีกยาวไกลและไม่ราบรื่น และภารกิจในการต่อสู้เงินเฟ้อของเฟดยังคงไม่สิ้นสุด โดยเฟดจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี นายพาวเวลล์ไม่ได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ระดับใด และย้ำว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นอยู่กับการประชุมในแต่ละครั้ง รวมถึงข้อมูลที่เฟดได้รับ โดยเฟดจะพิจารณาถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเฟดจะไม่มีการกำหนดล่วงหน้าสำหรับทิศทางนโยบายการเงิน

นักลงทุนคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50%

ทั้งนี้ล่าสุด FewWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 69.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และให้น้ำหนักเพียง 30.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 34.59/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 34.69/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันอังคารค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาด หลังดอลลาร์อ่อนค่าลงจากแรงขายดอลลาร์ที่เชื่อมโยงกับจังหวะการปรับขึ้นของเงินสกุลหลักอื่น ๆ และราคาทองคำในตลาดโลก

อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 35 จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ในวันพุธ (8/3) ภายหลังจากที่พาวเวลล์ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในรอบวันที่ 29 มีนาคมนี้ นักลงทุนคาดว่ กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% โดยพิจารณาปัจจัยเงินเฟ้อที่มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งนำโดยภาคบริการและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว พร้อมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปในลักษณะไม่ทั่วถึง และยังมีความเปราะบาง เช่น ในภาคครัวเรือน ธุรกิจขนาดกลางและย่อม

นอกจากนี้ การส่งออกได้รับผลกระทบเชิงลบจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักขึ้นดอกเบี้ยเร็วและต่อเนื่องในปี 2565 จึงส่งผลทำให้ในปี 2566 เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยชะลอตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับการเริ่มเห็นการหดตัวของภาคส่งออกในไตรมาส 4/2565 ส่วนปัจจัยในประเทศ เช่น การเลือกตั้งใหญ่ของประเทศที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แม้จะอยู่ในความสนใจของตลาด แต่ผลกระทบต่อค่าเงินบาทยังค่อนข้างจำกัดในระยะนี้ โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.38-35.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 35.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 1.0682/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 1.0605/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ด้านสำนักงานสถิติยุโรปเปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนไม่มีการขยายตัวในไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP และตัวเลขการจ้างงานลงเล็กนอย ส่วนข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในเดือนมกราคมที่ 3.5% จากที่คาดว่าจะออกมาที่ 1.4%

ขณะที่บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบีในสัปดาห์หน้า โดยมอร์แกน สเตนลีย์ คาดการณ์ว่า อีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของอีซีบีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 4% สอดคล้องกับที่โกลด์แมน แซกส์ คาดการณ์ว่า อีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.25% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0523-1.0694 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 1.0585/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 136.10/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/3) ที่ระดับ 136.19/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนอ่อนค่าลงในกลางสัปดาห์ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ภายหลังจากที่เฟดเตือนว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก

สำหรับปัจจัยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจจะจัดการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วัน โดยจะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดี (9/3) และจะแถลงผลการประชุมในวันศุกร์ (10/3) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นครั้งสุดท้ายของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ในฐานะผู้ว่าการบีโอเจ โดยนายคุโรดะจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายนนี้ หลังจากทำหน้าที่ผู้ว่าการบีโอเจเป็นเวลานานถึง 10 ปี โดยนักลงทุนจับตาการประชุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่า นายคุโรดะจะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินทั่วโลกอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการบีโอเจมีมติคงนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) นอกจากนี้ ทางบีโอเจยังคงเดินหน้ารื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี โดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อปกป้องเพดานอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเอาไว้ที่ระดับ 0.5% ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.36-137.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/3) ที่ระดับ 136.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ