คนรุ่นใหม่จีนว่างงานพุ่ง โจทย์ใหญ่รัฐบาลชุดใหม่

จีน ว่างงาน

เศรษฐกิจ “จีน” กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายหลังการยกเลิกนโยบาย “ซีโร่โควิด” ที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตและการบริโภคภายในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของเยาวชนที่รัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ไข

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยแพร่ข้อมูลดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีนในช่วง ม.ค.-ก.พ. 2023 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่ายที่มองเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังการยกเลิกข้อจำกัดโควิด-19

การผลิตภาคอุตสาหกรรมใน ม.ค.-ก.พ. 2023 เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดค้าปลีกก็ขยายตัวขึ้นเกินความคาดหมายถึง 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังพลิกกลับมาจากการหดตัว 1.8% ใน ธ.ค. 2022

ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed asset) โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานพุ่งสูงขึ้นถึง 5.5% ใน ม.ค.-ก.พ. 2023 โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อน รวมถึงการขยายเส้นทางการขนส่งระบบราง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงลดลง 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการลดลงมากถึง 12.2% ใน ธ.ค. 2022 แต่ก็ยังนับว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำ

แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมากคือภาคการจ้างงานในประเทศ โดยอัตราการว่างงานในเขตเมืองในช่วง 2 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% จาก 5.5% ใน ธ.ค. 2022 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 16-24 ปี มีอัตราการว่างงานมากขึ้นจาก 16.7% เป็น 18.1%

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ เป็นปัญหาที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดงานของจีนและเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการบริโภค ซึ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการจ้างงานมากถึง 12 ล้านตำแหน่งในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากเป้าหมาย 11 ล้านตำแหน่งในปี 2022

“หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ “employment-first” ต่อเนื่องทันที ด้วยนโยบายสนับสนุนบริการจัดหางานและการฝึกอบรมทักษะแรงงาน โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรองรับบัณฑิตจบใหม่ของจีนที่คาดว่าจะมีมากถึง 11.58 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2022 ถึง 820,000 คน

อย่างไรก็ตาม “ไอริส ผาง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่จากไอเอ็นจี (ING) ระบุว่า เป้าหมายในการเพิ่มการจ้างงาน 12 ล้านตำแหน่งของจีน อาจยังไม่เพียงพอ หากเทียบกับจำนวนบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ที่ยังต้องแข่งขันกับผู้ว่างงานในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้คือการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อขยายการจ้างงานมากขึ้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของการจ้างงานยังขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ชี้ว่ายังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่รอท้าทายเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ส่งผลให้รัฐบาลจีนตั้งเป้าบรรลุการเติบโตของจีดีพีปี 2023 ในระดับปานกลางที่ 5%

จึงยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลจีนจะมีมาตรการใดบ้างในการเพิ่มการจ้างงานอย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางปัญหารุมเร้าที่ยังแก้ไม่ตก โดยเฉพาะความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์และความเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์ที่กำลังส่งสัญญาณดังขึ้นเรื่อย ๆ