จับตา “สี จิ้นผิง” ยกเครื่อง ทีมเศรษฐกิจจีนใหม่หมด

สี จิ้นผิง จีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ที่กรุงปักกิ่ง กำลังมีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของจีนเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ และได้รับการจับตามองจากทั่วทุกมุมโลก นั่นคือ การประชุมประจำปีของ สภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) และสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน (ซีพีพีซีซี) ซึ่งจะดำเนินไปต่อเนื่องราว 9 วัน และเรียกกันเป็นการทั่วไปว่า “การประชุมสองสภา” หรือ “เหลียงฮุ่ย” เพราะทั้งสองสภาแยกกันประชุม แต่จัดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนั่นเอง

การประชุมสองสภามักถูกจับตามองอยู่เสมอ เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักใช้การประชุมนี้ประกาศนโยบายสำคัญ ๆ และทิศทางการดำเนินการของรัฐออกมาอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การประกาศ “ยกเครื่อง” ระบบการเมืองฮ่องกง เพื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคมากขึ้น ในการประชุมเมื่อปี 2021 หรือการผลักดันให้มี “กฎหมายความมั่นคงใหม่” ของฮ่องกง ก็เกิดขึ้นในการประชุมนี้เมื่อปี 2020

ที่ทุกคนไม่เคยลืมก็คือ ผลของการประชุมสองสภาเมื่อปี 2018 ที่เป็นการยกเลิกการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของผู้นำ เปิดโอกาสให้ “สี จิ้นผิง” ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดตลอดชีวิตได้

นอกจากนั้น การประชุมสองสภายังถูกใช้เป็นวาระของการ “กระชับอำนาจ” ของผู้นำ โดยอาศัยอำนาจในการปลด หรือแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในพรรคและในรัฐบาล

ยิ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของวาระ 5 ปีครั้งใหม่ อย่างเช่น การประชุมครั้งนี้ ยิ่งได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ ว่าในท้ายที่สุดแล้วผู้นำที่ว่ากันว่าทรงอิทธิพลสูงสุดในจีนนับตั้งแต่ เหมา เจ๋อตุง อย่าง สี จิ้นผิง นั้นจะได้รับการ “ยืนยัน” ให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ต่อไปเป็นวาระที่ 3 ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจริงหรือไม่

หลังจากที่ได้รับการยืนยันให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 2 ตำแหน่งคือ เลขาธิการพรรคและประธานคณะกรรมาธิการการทหาร มาแล้วในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรค ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า สี จิ้นผิง ไม่เพียงจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกวาระเท่านั้น ยังเตรียมการยกเครื่อง “ฝ่ายบริหาร” ครั้งใหญ่ ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี เรื่อยไปจนถึงผู้รับผิดชอบในตำแหน่งสำคัญ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการ “กำกับดูแล” ภาคการเงิน, เทคโนโลยี และอื่น ๆ ด้วยการแต่งตั้ง “คนสนิทที่ไว้วางใจ” ของตนเองแทนคนเก่าที่พ้นจากตำแหน่งไป

แวดวงธุรกิจและการลงทุนทั่วโลกจึงจับตากันมากว่า ใครกันจะมาแทนที่ “หลี่ เค่อเฉียง” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับทีมบริหารเศรษฐกิจชุดเดิมที่ได้รับเครดิตไม่น้อย ว่าสามารถนำพาเศรษฐกิจจีนผ่านพ้นห้วงเวลาที่ปั่นป่วนวุ่นวายที่สุดครั้งหนึ่งตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การปฏิรูปภาคการเงิน ซึ่ง สี จิ้นผิง เอ่ยถึง อยู่หลายครั้งนั้น จะทำกันอย่างไร มากน้อยเพียงใด และใครคือคนที่ประธานาธิบดีจีนผู้นี้มอบหมายให้รับผิดชอบ

ผู้ที่ได้รับการคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน หลี่ เค่อเฉียง ก็คือ “หลี่ เฉียง” วัย 63 ปี อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สาขาเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเคยทำงานร่วมกับสี จิ้นผิง เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียงมาในช่วงทศวรรษ 2000

ตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งที่ถูกจับตามองมากก็คือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนคนใหม่ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ “ลิ่ว เหอ” นักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับความชื่นชมอย่างมากจากการป้องกันวิกฤตการณ์ทางการเงินในจีนเมื่อปี 2017

ลิ่ว เหอ กับทีมเศรษฐกิจชุดที่ผ่านมา ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่ม “เทคโนแครต” เกือบทั้งหมด แต่ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนคือ “เหอ ลี่เฟิง” วัย 68 ปี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ทายาททางการเมือง” ของ สี จิ้นผิง ที่คาดว่าจะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีกลับเป็นนักการเมืองเต็มตัว

เหอ ลี่เฟิง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ในจีน และใช้ชีวิตเป็นนักการเมืองในท้องถิ่นมาโดยตลอด ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนา นักวิเคราะห์พากันระบุว่า หากเขาได้รับการแต่งตั้งจริง ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึง “ความจำเป็นทางการเมือง” ของ สี จิ้นผิง มากกว่าอย่างอื่น และอาจทำให้จีนจำกัดตัวเองอยู่กับนโยบายการเงินแบบอนุรักษนิยมในระยะยาว

ในส่วนของภาคการเงินที่จะมีการรื้อใหญ่นั้น คาดหมายกันว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลใหม่ ๆ เข้ามารับผิดชอบตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่างน้อย 3 ตำแหน่งด้วยกัน แรกสุดคือ “ลู่ จื่อหยวน” เลขาธิการพรรค
คอมมิวนิสต์ สาขาชิงเต่า คาดว่าจะได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วน อี้ ฮุ่ยมัน ซึ่งตอนนี้เป็นประธานคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์จีน คาดว่าจะถูกขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกันภัยและกิจการธนาคารแห่งจีน

สุดท้ายก็คือ จู เหอซิ่น ประธาน ไซติกกรุ๊ป (Citic Group) ที่เป็นบรรษัทเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศของจีน ได้รับการคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน หรือแบงก์ชาตินั่นเอง

ทั้ง 3 คนหลังนี้ นอกจากจะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศของจีนเหมือนกันแล้ว ทั้งหมดยังมีอายุไม่ถึง 60 ปีเช่นกันอีกด้วย