
สงครามราคาในอุตสาหกรรมยานยนต์จีนยังร้อนแรงต่อเนื่อง จากการลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ซึ่งขณะนี้ได้ลุกลามมายังกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์น้ำมันแบบดั้งเดิมที่ต้องปรับราคาลดลง เพื่อให้ยังสามารถแข่งขันและชิงส่วนแบ่งการตลาดกับค่ายรถอีวีได้ ท่ามกลางยอดขายรถยนต์จีนที่กำลังชะลอตัว
“เทสลา มอเตอร์” ผู้ผลิตรถอีวียักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา นับเป็นผู้จุดชนวนสงครามราคาขึ้นครั้งแรกในตลาดยานยนต์จีน ด้วยการลดราคารถอีวีลงหลายระลอกนับแต่ปลายปี 2022 เป็นต้นมา ส่งผลให้ค่ายรถอีวีในจีนหลายรายต้องขยับตามกระแสลดราคา ไม่ว่าจะเป็นบีวายดี เสี่ยวเผิง นีโอ รวมถึงค่ายรถเยอรมนีอย่าง โฟล์คสวาเกน ก็ลดราคารถอีวีหลายรุ่นที่จำหน่ายในจีน
ด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้มากขึ้น ทำให้ยอดขายรถอีวีมีส่วนแบ่งการตลาดในยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไคซินโกลบอลรายงานข้อมูลของ “สมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจีน” (CPCA) แสดงให้เห็นว่า ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์น้ำมันอยู่ที่ 15 ล้านคัน ลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ 5.7 ล้านคัน พุ่งขึ้นถึง 90%
แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไปต้องกระโดดเข้ามาร่วมในสงครามราคาครั้งนี้คือตลาดที่หดแคบลง โดยข้อมูลของ CPCA ระบุว่ายอดขายรถยนต์นั่งโดยรวมของจีนในช่วง ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมาลดลง 19.8% จากปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยอดขายที่หดตัวลงเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนการซื้อยานยนต์ พลังงานใหม่ของรัฐบาลจีนเมื่อปลายปี 2022 ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจีนที่บอบช้ำจากการล็อกดาวน์หลายระลอก ยังทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าเสี่ยงซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์
ตลาดที่หดตัวกระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ต้องเร่งเสนอแคมเปญส่วนลด เพื่อแข่งขันกับค่ายรถอีวีที่กำลังเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา “ฉางอัน ออโตโมบิล” หนึ่งในรัฐวิสาหกิจรถยนต์จีนได้เสนอแคมเปญส่วนลดสำหรับรถยนต์ใช้น้ำมันและรถอีวีหลายรุ่นสูงสุดถึง 40,000 หยวน
“เฌอรี่ ออโตโมบิล” ค่ายรถยนต์ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ก็ประกาศให้ส่วนลดกับลูกค้ากว่า 10,000 หยวน ส่วน “ตงฟง มอเตอร์ กรุ๊ป” ยักษ์รัฐวิสาหกิจรถยนต์จีนอีกรายก็ปรับลดราคารถยนต์ “ซีตรอง ซี6” ที่จำหน่ายในจีนสูงถึง 90,000 หยวน หรือคิดเป็น 40% ของราคาจดทะเบียน
“เซียว หยง” รองผู้จัดการทั่วไปของ “ไอออน” (Aion) แบรนด์รถอีวีของกว่างโจว ออโตโมบิล คอร์ป (GAC) ซึ่งมีแผนจะลดราคาเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งรายอื่นเช่นกัน ระบุว่า “ถ้าคุณไม่ลดราคาตอนนี้ก็เท่ากับรอวันตาย”
สงครามราคาที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ อาจนำไปสู่การยกเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์จีนครั้งใหญ่ “ริชาร์ด หยู” ซีอีโอกลุ่มธุรกิจผู้บริโภค ซึ่งดูแลธุรกิจยานยนต์อัจฉริยะของหัวเว่ยระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จีนจะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหมือนอุตสาหกรรมการบินที่เหลือผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย และสุดท้ายตลาดยานยนต์จีนอาจเหลือผู้เล่นหลักไม่ถึง 5 ราย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ผลิตกว่า 80 รายที่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่งในจีนกว่า 100 แบรนด์ตามข้อมูลของ CPCA “จู ฮวาหรง” ประธานของฉางอัน ออโตโมบิล คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์น้ำมันราว 80% จะถูกบีบให้ออกจากตลาด หรือต้องปรับโครงสร้างใหม่ใน 3-5 ปีข้างหน้า
กุญแจสำคัญสำหรับความอยู่รอด คือการควบคุมต้นทุนและการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี